พฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ
Parasomnia หรือในภาษาไทยคือ ความผิดปกติในพฤติกรรมขณะนอน ซึ่งความผิดปกติในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องของการที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมขณะนอน หรืออารมณ์ที่ผิดปกติในระหว่างการนอนหลับ โดยอาการที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ 5 อย่างดังต่อไปนี้
ภาวะนอนละเมอ (Sleep walking disorder)
เป็นความผิดปกติในช่วงของการนอนหลับแบบ NREM ผู้ป่วยจะลุกจากเตียง เดินไปมาหรือไปทำกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อนได้ เช่น อาจเดินไปเปิดประตู เปิดไฟ เดินออกนอกบ้าน หรือพูดประโยคสั้นๆ ได้ โดยผู้ป่วยจะลืมตา แต่มักจะลืมตาแบบตาลอย มองค้างแบบไม่มีจุดหมายชัดเจน และไม่ตอบสนองเมื่อเรียกหรือพูดด้วย เมื่อถูกปลุกให้ตื่นขณะละเมอ ก็จะจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น จำไม่ได้ว่าทำอะไรไปบ้างหรือกำลังฝันว่าอะไร บางคนอาจจะสับสนมึนงงอยู่หลายนาทีถึงจะกลับมารับรู้ได้ปกติ การเดินละเมอนี้พบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยในเด็กประมาณร้อยละ 2-3 จะมีอาการนอนละเมอ ในขณะที่ผู้ใหญ่พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ช่วงอายุที่พบการนอนละเมอได้มากที่สุด คือ เด็กช่วงอายุ 4-8 ปี การนอนละเมอสามารถพบได้ในคนทั่วๆ ไป หากเกิดนานๆ ครั้ง ไม่ถือว่าผิดปกติอะไร นอกจากมีอาการเป็นซ้ำๆ ทุกเดือน จนทำให้มีปัญหาการนอนหรือก่อให้เกิดอันตรายจึงจะถือว่าผิดปกติ
การรักษา ในเด็ก การรักษาจะเน้นไปที่การป้องกันอันตรายจากการละเมอ เช่น อาจเดินตกบันได หรือเปิดน้ำทิ้งไว้ เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือการรักษาอย่างอื่น เพราะส่วนใหญ่อาการจะน้อยลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้นการจะเข้าไปปลุกผู้ที่กำลังละเมอ คนที่จะเข้าไปปลุกต้องระวังตัวเองด้วย เพราะผู้กำลังมีอาการละเมออยู่อาจสับสน ดิ้น จนทำให้ตัวเองหรือคนที่ปลุกได้รับบาดเจ็บได้ ในผู้ใหญ่หากเป็นบ่อยจนมีปัญหา การรักษาด้วยยา เช่น ยา clonazepam มีประสิทธิภาพดีในการรักษาการนอนละเมอ
ภาวะตกใจกลัวตอนกลางคืน (Sleep terror disorder, night terrors, pavomocturmus)
อาการหลักของ sleep terror คือ การที่ผู้ป่วยมีการกรีดร้องหรือร้องไห้ขึ้นมาทันทีกลางดึก หลังจากร้องก็จะมีอาการเหมือนตกใจกลัวอะไรอย่างมาก เช่น อาจมีอาการใจสั่น เหงื่อตก หรือมือเย็น เป็นต้น โดยอาการส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ประมาณ 1-10 นาที แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น ในระหว่างที่เกิดอาการ ผู้ป่วยมักจะจำไม่ได้หรือจำได้น้อยมากกว่าฝันหรือกลัวอะไร โดยส่วนใหญ่พบว่าในขณะที่มีอาการดังกล่าว คนที่เป็นจะครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือถ้าตื่นเต็มที่ก็มักจะสับสนหรือพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง อาการนี้พบได้บ่อยในเด็ก โดยเด็กอายุ 2-3 ขวบ พบได้บ่อยถึงร้อยละ 19.7 ในขณะที่ในผู้ใหญ่พบได้น้อย เพียงประมาณร้อยละ 2 เท่านั้น
การรักษา สำหรับในเด็กเล็ก โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษาอะไรเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่เมื่อโตขึ้นอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง พ่อแม่เพียงเข้าใจว่าธรรมชาติของอาการเป็นแบบนี้ คือ เมื่อเด็กร้องขึ้นมาสักพักก็จะหายไปเอง แล้วก็ให้เด็กหลับต่อ สำหรับในเด็กโตและเด็กวัยรุ่น การประเมินว่าเด็กเครียดหรือไม่อาจเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะพบว่า ความเครียดหรือปัญหาในครอบครัวอาจทำให้เกิด Sleep terror ได้ หากอาการไม่ดีขึ้นจริงๆ การรักษาด้วยยาคลายกังวล เช่น ยา diazepam สามารถลดอาการได้ดี
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ -> http://health.haijai.com/1412/
ห้องสมุด สุขภาพ ผู้หญิง แม่ตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด เด็กโต ครอบครัว