4 ความเชื่อผิดๆ โรคซึมเศร้า ควรรีบเปลี่ยน

โรคซืมเศร้า

โรคซึมเศร้าคือ ความเจ็บป่วยทางจิตเวชโรคหนึ่ง เป็นโรคที่พบได้บ่อยแต่มักไม่มีใครรู้แม้แต่ผู้ป่วยเอง และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและรวมไปถึงสุขภาพกาย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตนเอง

          แต่ในความจริงแล้ว “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่ต้องอาศัยการบำบัดรักษาทางจิตเวชอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เพียงพูดคุยปลอบใจหรือพูดว่าอย่าคิดมาก รวมถึงการออกกำลังกาย ก็ไม่สามารถบำบัดให้หายได้

          สำหรับใครที่พบว่าตัวเองหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการมากกว่า 5 ข้อนี้ต่อไปนี้ หรือมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควนไปพบแพทย์โดยเร็ว !!

thaihealth_c_hikmqruwz126

อาการของ “โรคซึมเศร้า”
1. ขาดความสุข ความพึงพอใจในการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป (anhedonia)
2. มีอารมณ์ซึมเศร้า (Depressed mood)
3. รู้สึกตัวเองไร้ค่าและมีความรู้สึกผิดแม้ในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล
4. ขาดสมาธิ
5. รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่มีแรงทำสิ่งต่างๆ
6. นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
7. บางรายรู้สึกกระวนกระวายอยู่ไม่ติดที่ ในขณะที่บางรายมีอาการซึมมาก
8. มีน้ำหนักลดหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน
9. คิดถึงเรื่องความตายหรือการทำร้ายตนเองบ่อยๆ

sadness

ความเชื่อเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าแบบผิดๆ

          ความเชื่อ : “ฉันไม่เป็นโรค แค่เศร้าเอง ไม่ต้องกินยาก็ได้”

          ความจริง: เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็น “โรคซึมเศร้า” แสดงว่าคุณมีอาการรุนแรงจนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การกินยาจะช่วยให้คุณดีขึ้น ร่วมกับการปรับความคิดและพฤติกรรม สำหรับการรักษาโรคนี้การกินยาสำคัญมาก! เพราะยาจะมีผลไปปรับสมดุลเคมีในสมองที่ลดลงจากภาวะซึมเศร้า โดยปกติการรักษาด้วยยาจะเห็นผลประมาณสัปดาห์ที่ 1-2 หลังจากเริ่มยาและแพทย์มักแนะนำให้กินต่อเนื่องอย่างน้อย 3-6 เดือน

          ความเชื่อ : “ความรู้สึกเศร้าแบบนี้ เดี๋ยวก็หายไปเอง”

          ความจริง : ความเชื่อนี้อาจถูกต้องถ้าหากคุณเป็นแค่ “ภาวะซึมเศร้า” (depress) แต่เมื่อใดที่อาการเป็นรุนแรง เรื้อรัง จนเป็น “โรคซึมเศร้า” ความเชื่อนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ผิดมหันต์ทันที เพราะ “โรคซึมเศร้า” ต้องการการดูแลมากขึ้น

          ความแตกต่าง : “ภาวะซึมเศร้า” คือผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเอง ใครๆก็เป็นได้ทั้งนั้นตามแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากระทบใจในแต่ละวัน แต่ไม่นานเราก็ลืมไปได้ “โรคซึมเศร้า” คือ จะมีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ขี้เกียจ ไม่สามรถทำกิจวัตรประจำวันได้ เก็บตัว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งถ้าคุณมีอาการแบบนี้คุณควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

          ความเชื่อ : “อย่าไปพูดเรื่องแย่ๆ สิ เดี๋ยวจะแย่กันไปใหญ่”

          ความจริง : การให้โอกาสได้พูดคุยเพื่อระบายความทุกข์ ความไม่สบายใจ จะช่วยให้อาการดีขึ้น เพราะความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้นแท้จริงมักเป็นผลจากความคิด ซึ่งคนเรามีแนวโน้มจะทุกข์เพราะคิดแบบผิดๆ เช่น เรื่องดีๆ ที่เกิดเป็นเรื่องบังเอิญ, ฉันมันโชคร้าย ต้องเกิดเรื่องแย่กับฉันแน่ๆ, ฟ้าดินจงใจแกล้งฉัน, ไม่มีใครช่วยฉันได้ ฉันต้องจัดการมันคนเดียว, ทุกอย่างหมดสิ้นแล้ว หมดหวังแล้ว เป็นต้น การพูดคุยอาจเริ่มจากการให้เจ้าตัวเล่าว่าเพราะอะไรถึงคิดเช่นนั้น ให้เขาได้สังเกตและตระหนักถึงความผิดปกติในความคิดของตัวเอง จากนั้นให้ผู้ป่วยลองฝึกสติ รู้เท่าทันความคิดที่เกิดขึ้น ตรวจสอบหาความถูกต้องของความคิด และพิจารณาดูว่าความคิดนั้นมีประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีประโยชน์ก็ปล่อยมันไปบ้าง ให้อภัยกับความผิดพลาด ให้โอกาสตัวเองกลับมาเริ่มต้นใหม่

          ความเชื่อ : “ซึมเศร้า = คนบ้า?”

          ความจริง : โรคนี้ไม่ใช่โรคจิต เพราะฉะนั้นใครที่ซึมเศร้าไม่ใช่เป็นบ้า ทุกเหตุการณ์มีทางบำบัดรักษาให้ดีขึ้นได้ เช่น เริ่มจากเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม คือ อาจให้เวลากับตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้รู้สึกเจ็บทรมาน อาจใช้เวลาไปพักผ่อน ออกกำลังกาย เลี้ยงสัตว์ หาที่ปรึกษาที่รู้สึกไว้ใจ เข้าไปอยู่ในสังคมที่ดี พูดคุยในเนื้อเรื่องเดียวกันหรือคอเดียวกัน เบี่ยงเบนจากความคิดสู่กิจกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นต้น

ที่มา : http://www.thaihealth.or.th

แชร์:

ใส่ความเห็น