กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือน 5 โรค อันตรายในฤดูร้อน ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ พร้อมจับตาพิเศษโรคพิษสุนัขบ้า และโรคลมแดด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนประชาชนเกี่ยวกับโรคที่มักพบบ่อยในฤดูร้อน ประกอบด้วย 5 โรคสำคัญ ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์พร้อมจับตาพิเศษในโรคพิษสุนัขบ้า และโรคลมแดด โดยขอให้ประชาชนยึดหลักง่ายๆ คือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หากอยู่กลางแจ้งควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้อยู่ในร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ กรมควบคุมโรคจึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน ตามประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อน ซึ่งประกอบด้วย 5 โรคสำคัญ ได้แก่
1) โรคอุจจาระร่วง
2) โรคอาหารเป็นพิษ
3) โรคบิด
4) อหิวาตกโรค
5) ไข้รากสาดน้อย หรือไข้ไทฟอยด์
นอกจากนี้ยังรวมถึงโรคพิษสุนัขบ้าและโรคลมแดดที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 นี้ มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 5 โรค รวม 281,467 ราย เสียชีวิต 2 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 253,967 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา คือ โรคอาหารเป็นพิษ 26,672 ราย โรคบิด 484 ราย ไทฟอยด์ 343 ราย และโรคอหิวาตกโรค 1 ราย ตามลำดับ อีกโรคหนึ่งที่สำคัญ คือ โรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2557 นี่มีรายมีผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ราย
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการป้องกันตนเอง ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ คือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ประกอบด้วย
1.กินร้อน
โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อ อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อนรับประทาน
2.ใช้ช้อนกลาง
ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น
3. ล้างมือ
ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังจากใช้ห้องส้วม ก่อนปรุงและรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร และสิ่งปฏิกูลรอบๆบ้านทุกวัน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และถ่ายอุจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง เพื่อไม่ให้แพร่โรค
ส่วนโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกปี โดยมีพาหะหลักจากสุนัข และแมว ซึ่งอาจติดโรคจากการกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังคนมีแผล ที่สำคัญโรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย ไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและคนรอบข้าง ควรลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด หรือโดนทำร้าย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย ได้แก่
- อย่าแหย่
- อย่าเหยียบ
- อย่าแยก
- อย่าหยิบ
- อย่ายุ่ง
———————————————————————————————————————————
มีรายละเอียด ดังนี้
1) อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห
2) อย่าเหยียบสุนัข (หาง,ตัว,ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ
3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
4) อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และ
5) อย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ
หากถูกสุนัขกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามที่แพทย์แนะนำ ต้องจำสัตว์ที่กัดให้ได้ เพื่อสืบหาเจ้าของและสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน และ ถ้าพบสุนัขนั้นตายก่อน 10 วัน และมีประวัติกัดคนหรือสัตว์อื่น ควรนำหัวส่งตรวจโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่ใกล้บ้าน
นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคที่ควรระมัดระวังในช่วงฤดูร้อนอีกโรค คือ โรคลมแดด เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่พบเบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน ซึ่งอาจมีอาการเพิ่มเติมอีก ได้แก่ ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็วหัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคลมแดด ได้แก่ ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยปราศจากการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมในการเผชิญสภาพอากาศร้อน รวมถึงบรรดานักกีฬาสมัครเล่นและผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นรวมทั้งสูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดื่มสุราจัด และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
———————————————————————————————————————————
วิธีป้องกัน
1) ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้ทำงานในร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
2) สวมเสื้อผ้าที่มาสีอ่อน ไม่หนา และระบายความร้อนได้ดี
3) หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด
4) ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
5) หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก
6) ควรให้การดูแลเด็ก คนชราเป็นพิเศษ
———————————————————————————————————————————
หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02 590 3183 หรือได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์: 0-2590-3855 โทรสาร: 0-2590-3386