น้ำมะพร้าวมีประโยชน์มากมาย นอกจากจะช่วยเรื่องลดอาการวูบวาบของสตรีวัยหมดประจำเดือนได้แล้ว ยังลดอาการอัลไซเมอร์สได้อีกด้วยนะ…
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยันคุณสมบัติน้ำมะพร้าวชะลอโรคอัลไซเมอร์ในกลุ่มหญิงวัยทอง ทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์ หากรับประทานฮอร์โมนสังเคราะห์ระยะยาวเสี่ยงเกิดมะเร็ง ดร.นิซาอูดะห์ ระเด่นอาหมัด อาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือหญิงวัยทองที่ขาดฮอร์โมนจากรังไข่มากระตุ้นมดลูก เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ กระดูกผุ จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนสังเคราะห์ทดแทน อย่างไรก็ดี มีผลวิจัยจากต่างประเทศเตือนว่า การรับฮอร์โมนสังเคราะห์ต่อเนื่องนานกว่า 5 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทีมวิจัยจึงตั้งเป้าหาสารธรรมชาติทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์
ขอบคุณภาพจาก : thaibuffer
โดยนำน้ำมะพร้าวมาศึกษา เนื่องจากมีเอสโตรเจนสูงไม่ต่างจากถั่วเหลืองและกวาวเครือขาว หลังทดสอบฤทธิ์ของน้ำมะพร้าวในหนขาวเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ พบว่าหนูที่ได้รับน้ำมะพร้าวมีพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับน้ำมะพร้าว คนสมัยก่อนมักแนะนำให้สตรีวัยทองดื่มน้ำมะพร้าว เพื่อลดอาการวูบวาบจากภาวะหมดประจำเดือน แต่ยังไม่มีงานวิจัยเชิงลึกเพื่อยืนยันคุณสมบัติของน้ำมะพร้าว เพื่อใช้เป็นแหล่งฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน นักวิจัยนำหนูขาวเพศเมีย อายุ 4 เดือน มาตัดรังไข่ออกและแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้น้ำมะพร้าวปริมาณ 100 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และอีกกลุ่มไม่ให้น้ำมะพร้าวเป็นเวลา 5 สัปดาห์ จากนั้นนำไปผ่าสมองเพื่อตรวจสอบระดับเซลล์ “น้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงไม่ต่างกับถั่วเหลืองและกวาวเครือขาว ที่หญิงวัยทองส่วนใหญ่บริโภคทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์อยู่ แต่ก็ไม่ควรดื่มมาก อาจเลือกดื่มสลับกับน้ำนมถั่วเหลือง เนื่องจากมีส่วนกระตุ้นให้ไขมันชนิดดี (เอชดีแอล) มีปริมาณสูงขึ้นเกินความจำเป็นด้วย” ดร.นิซาอูดะห์กล่าว ผลการตรวจสอบพบว่า หนูขาวที่ได้รับน้ำมะพร้าวจะมีอัตราการตายของเซลล์ประสาทน้อยกว่าหนูที่ไม่ได้รับน้ำมะพร้าว แผลที่เกิดจากการผ่าตัดแห้งและหายได้เร็วกว่า มีขนที่นุ่มและผิวขาวใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ทีมวิจัยกำลังศึกษาต่อในส่วนของการออกฤทธิ์สมานแผลของน้ำมะพร้าว เพื่อหาข้อสรุปว่า นอกจากการนำน้ำมะพร้าวมาใช้เป็นสารทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์สำหรับหญิงวัยทองได้แล้ว ยังสามารถออกฤทธิ์รักษาบาดแผลได้จริงหรือไม่