เมื่อพูดถึงปัญหาในการขับถ่าย เรามักได้ยินชื่อโพรไบโอติกและพรีไบโอติดตามมาอยู่เป็นประจำ ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถช่วยให้ไร้ปัญหาในการขับถ่าย แต่ยังมีหลายคนที่ไม่รู้ว่าจุลินทรีย์ โพรไบโอติก คืออะไร ดีอย่างไรและสามารถช่วยอะไรต่อร่างกายได้บ้าง และควรกินหรือไม่ เราจึงได้รวบรวมทุกคำถามมาตอบกันที่นี่แบบไม่ต้องไปหาอ่านซ้ำที่อื่น!
ทำความรู้จัก Probiotic Prebiotic และ Postbiotic คืออะไร
โพรไบโอติก (Probiotic) คือจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในลำไส้ โดยมีบทบาทในการช่วยดูแลระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อยและสังเคราะห์วิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงช่วยปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนพรีไบโอติก (Prebiotics) คือใยอาหารชนิดหนึ่งที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ แต่สามารถถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ หรือโพรโบโอติก กล่าวคือพรีไบโอติกเปรียบเสมือนอาหารของโพรไบโอติก ที่ทำให้โพรไบโอติกเจริญเติบโตได้ดีและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนโพสไบโอติก (Postbiotic) เป็นสารทางชีวภาพจากกระบวนการย่อยของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรืออาจกล่าวได้ว่าโพสไบโอติก คือสารที่เกิดจากโพรไบโอติกที่ตายแล้ว โดยยังมีประโยชน์ไม่ต่างจากโพรไบโอติกเท่าไรนักและมักเป็นสิ่งที่มาคู่กัน เพราะแม้เชื้อจะตายจนเกิดเป็นโพสไบโอติกไปแล้วแต่สารที่ผลิตเชื้อโพรไบโอติกก็ยังคงอยู่ ทำให้มีทั้งโพรไบโอติกและโพสไบโอติกอยู่ด้วยกัน
โพรไบโอติก ช่วยอะไร ดีอย่างไรต่อร่างกาย
โพรไบโอติกมีประโยชน์มากมายที่ส่งผลต่อร่างกาย โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินอาหาร โดยสามารถช่วยให้การทำงานของระบบย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยข้อดี ดังนี้
- รักษาสมดุลในระบบย่อยอาหาร โดยสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย โรคลำไส้อักเสบ ได้
- เสริมภูมิคุ้มกัน โพรไบโอติกช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อ
- ลดการอักเสบและภูมิแพ้ ด้วยการปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยกระตุ้นการผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และยับยั้งการผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดการอักเสบ อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้และช่วยสร้างเยื่อบุลำไส้ที่แข็งแรง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้สารก่อภูมิแพ้เข้าสู่กระแสเลือดได้อีกด้วย
- บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน ด้วยคุณสมบัติของโพรไบโอติกในการช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ชนิดดี เพื่อปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ จึงทำให้อาการของโรคลำไส้แปรปรวนดีขึ้น
นอกจากจะมีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารแล้ว โพรไบโอติกยังส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ โดยช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ด้วยการเข้าไปยึดเกาะกับผนังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อแย่งพื้นที่กับแบคทีเรียที่ก่อโรค และทำการผลิตสารต้านจุลชีพ เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียก่อโรคเจริญเติบโตจนทำให้เกิดการติดเชื้อ จึงช่วยลดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ลดการอักเสบ และขับแบคทีเรียออกจากร่างกายได้อีกด้วย
โพรไบโอติก ต้องกินตอนไหน
โพรไบโอติกสามารถกินได้ทุกวัน โดยไม่มีช่วงเวลาที่กำหนด แต่แนะนำให้กินช่วงก่อนนอน หรือตอนท้องว่าง เนื่องจากโพรไบโอติกบางชนิดอาจถูกทำลายโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ดังนั้น การกินโพรไบโอติกในช่วงท้องว่างจึงสามารถช่วยให้โพรไบโอติกเกาะกับทางเดินอาหารเพื่อเข้าสู่ลำไส้ได้ดีกว่า
อาหารที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกสูง มีอะไรบ้าง
โดยส่วนใหญ่แล้วอาหารที่เป็นแหล่งของโพรไบโอติก มักเป็นอาหารจากธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการการหมัก ดอง จนทำให้ได้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สูง โดยมีตัวอย่างอาหารที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติก ดังนี้
โยเกิร์ตและนมเปรี้ยว
หลายคนอาจเคยได้ยินว่าหากมีปัญหาท้องผูก ขับถ่ายไม่ออก ให้ลองกินโยเกิร์ต นั่นก็เพราะในโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวมีโพรไบโอติกที่เกิดจากการหมักนมด้วยจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacterium) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดไม่ดีในลำไส้ และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ซึ่งในโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวแต่ละชนิดก็อาจมีปริมาณโพรไบโอติกที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนมากแล้ว โยเกิร์ตและนมเปรี้ยวรสธรรมชาติจะมีโพรไบโอติกมากกว่ารสชาติที่ผ่านการปรุงแต่งสีและกลิ่น
อาหารหมักดอง
โดยเฉพาะอาหารหมักดองที่เกิดจากการหมักผัก หรือผลไม้ เพราะจุลินทรีย์โพรไบโอติกจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง มีน้ำตาล และกรดเปรี้ยว ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่พบได้ในอาหารหมักดอง เช่น กิมจิ ขิงดอง หรือมิโซะ ซึ่งนอกจากโพรไบโอติกแล้ว อาหารหมักดองบางชนิดก็อาจมีกระบวนการที่ก่อให้เกิดโพสไบโอติกได้เช่นกัน
ชีสบางชนิด
ดังที่กล่าวไปว่าอาหารที่เป็นแหล่งของโพรไบโอติกสูง เป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการหมักดอง ซึ่งชีสเองก็เช่นกัน แต่ก็ใช่ว่าชีสทุกชนิดจะมีโพรไบโอติก โดยสามารถสังเกตได้โดยดูที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ ซึ่งฉลากของผลิตภัณฑ์ชีสที่มีโพรไบโอติกมักจะระบุว่ามีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacterium) อยู่ด้วย
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
ปัจจุบันการเลือกทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริม นับว่าเป็นวิธียอดนิยมในการเสริมโพรไบโอติกให้กับร่างกาย เนื่องจากเป็นแหล่งรวมโพรไบโอติกชั้นดี ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติกบางชนิดอาจมีจุลินทรีย์หลายชนิดร่วมกัน นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนวัตกรรมใหม่ที่รวมเอาทั้งพรีไบโอติกส์ และโพสไบโอติกส์ไว้ในผลิตภัณฑ์เดียว เพื่อส่งเสริมการทำงานของโพรไบโอติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนขึ้นในการเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
หมดปัญหาระบบขับถ่าย สร้างสมดุลให้ร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการดูแลระบบย่อยอาหารและเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยอาหารเสริมโพรไบโอติก ที่รวมโพรไบโอติกที่ดีต่อร่างกายหลากชนิดไว้ในแหล่งเดียว!
ข้อมูลอ้างอิง
- รู้จักกับโปรไบโอติกส์ หัวใจแห่งสุขภาพ และการชะลอวัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566
จาก https://www.synphaet.co.th/รู้จักกับโปรไบโอติกส์-ห/ - ‘โพรไบโอติกส์’ เสริมภูมิคุ้มกัน แนะนำอาหารโพรไบโอติกสูงที่ควรทาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566
จาก https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/probiotics - ชวนรู้จักโพสไบโอติก (Postbiotic) ตัวช่วยเสริมสุขภาพจากจุลินทรีย์มีประโยชน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566
จาก https://www.pobpad.com/ชวนรู้จักโพสไบโอติก-postbiotic-ต