เอ๊ะ!! หรือว่าเรา “เท้าแบน” ?

คุณเคยสังเกตไหมว่าเท้าที่เราใช้เดินอยู่ทุกวันมีลักษณะรูปเท้าอย่างไร ทำไมเราเดินแล้วรู้สึกเมื่อย แต่คนอื่นเดินในระยะทางที่เทียบเท่ากันกับเราถึงไม่เป็นอะไร เอ๊ะ!! หรือว่าเรา “เท้าแบน”

                เท้าแบน (Flat Feet) สังเกตได้ง่ายๆ  คือ เมื่อลุกขึ้นยืน ฝ่าเท้าจะราบแนบไปกับพื้นทั้งหมด หรือภาวะเท้าแบนเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เนื่องจากฝ่าเท้าของเด็กมีไขมันและเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้มองเห็นอุ้งเท้าตรงฝ่าเท้าได้ไม่ชัด แต่เมื่อโตขึ้นช่องโค้งก็จะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมา บางคนอาจได้รับการถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวมาทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ภาวะเท้าแบนอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพไปตามอายุ

                ด้าน รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ให้ข้อมูลว่า เท้าแบนเกิดจากความผิดปกติของเท้าที่มีโครงสร้างผิดปกติไป และโครงสร้างของเส้นเอ็นที่คล้องอยู่บริเวณอุ้งเท้า ทำให้เท้าไม่ปกติ ไม่สมดุลพอดี จึงส่งผลให้เท้าที่ควรพัฒนาขึ้นตั้งแต่ตอนเป็นเด็กไม่มีความโค้งของอุ้งเท้าจากที่ควรเป็น

รูปแบบเท้ามี 3 ลักษณะ คือ

      1. Normal arch เท้าปกติ จะสามารถมองเห็นอุ้งเท้าชัดเจน

      2. Flat arch เท้าแบน อุ้งจะไม่มีหรือมีน้อย เท้าแบนราบติดพื้น คนกลุ่มนี้จะค่อนข้างมีปัญหาทางด้านการเดิน

      3. High arch เท้ามีอุ้งเท้าสูง คือมีอุ้งเท้าเยอะเกินไป

            รศ.นพ.ปัญญา ให้ข้อมูลต่อว่า เท้าแบนสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดตอนอายุ 1 ขวบขึ้นไป ว่ามีความโค้งของอุ้งเท้าหรือไม่ และชัดเจนมากขึ้นตอนอายุ 8-9 ขวบ

            คนเท้าแบนจะต้องใช้ชีวิตผิดจากคนทั่วไปหรือไม่?

ระหว่างคนเท้าแบนกับคนเท้าปกตินั้นไม่ต่างกัน เพียงแต่ต้องเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปแบบเท้า เพื่อให้เกิดความสมดุลในการเดิน โดยอาจจะใส่รองเท้าเพื่อสุขภาพ ควรเว้นรองเท้ามีส้นสูงจะทำให้การถ่ายโอนน้ำหนักเปลี่ยนไป ไม่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง ถ้าจำเป็นต้องใส่ออกงานไม่ควรสูงเกิน 1 นิ้ว

            สำหรับผู้ที่ประสบภาวะเท้าแบนไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หากไม่ได้มีอาการเจ็บปวดใด ๆ ที่เท้า แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดภาวะเท้าแบนควรไปพบแพทย์หากมีอาการดังนี้

1.รู้สึกเจ็บฝ่าเท้า แม้จะสวมรองเท้าที่ใส่สบายและรองรับเท้าแล้ว
2.รู้สึกเจ็บที่อุ้งเท้าและส้นเท้า
3.ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น
4.ยืนไม่ค่อยได้ หรือเคลื่อนไหวทรงตัวบนเท้าลำบาก
5.เจ็บหลังและขา
6.รองเท้าที่เคยสวมได้ ไม่สามารถสวมได้ และชำรุดเร็วเกินไป
7.เท้าแบนมากยิ่งขึ้น
8.ฝ่าเท้าอ่อนแรง รู้สึกชา หรือเกิดอาการฝ่าเท้าแข็ง

                “สาเหตุมาจากการใช้งานหนัก เช่น ยืนนาน ๆ หรือเดินมาก จะรู้สึกปวดบริเวณอุ้งเท้า ส้นเท้าและข้อเท้าด้านใน หากเป็นมากขึ้นอาจยืนเขย่งปลายเท้าไม่ได้ เมื่อเท้าผิดรูปจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยการรักษา มุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้มีการผิดรูปเกิดขึ้น ควบคุมน้ำหนัก ปรับกิจกรรม ใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้า และปรับรองเท้า อาจรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัดร่วม” รศ.นพ.ปัญญา กล่าวทิ้งท้าย

                อาการเท้าแบนนั้นอาจไม่ได้ส่งผลร้ายแรง ถ้าเรารู้จักดูแลตนเองไม่ปล่อยให้น้ำหนักมากเกินไป เท้าของเราก็จะไม่ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และการออกกำลังกายของคนเท้าแบนนั้นก็ไม่ได้มีข้อแตกต่างจากคนเท้าปกติ แต่ต้องเลือกรองเท้าให้เหมาะสม หากมีอาการบอบช้ำแนะนำให้เอาเท้าแช่น้ำอุ่น 5-10 นาที ก่อนนอน ก็จะช่วยลดอาการปวดได้ และการมีสุขภาพที่ดีไม่ได้เกิดจากการดูแลรักษาเท้าเพียงอย่างเดียว ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้เพียงพอ เท่านี้สุขภาพกายใจก็จะมีความสมดุลมากขึ้น

 

สาระน่ารู้จาก : สสส

แชร์:

บทความที่คุณอาจสนใจ

วิตามินอีและวิตามินซีเป็นวิตามินช่วยลดการอักเสบ
หลังจากทำศัลยกรรมมักเกิดอาการบวมและช้ำจากการอักเสบได้ บทความนี้จึงรวมวิธีลดบวม และอาหารเสริมลดการอักเสบมาแนะนำให้ได้รู้จักกัน
ซิงก์ (Zinc) หนึ่งในวิตามินที่สามารถบำรุงเส้นผม และสุขภาพคุณผู้ชายได้เป็นอย่างดี อยากรู้ว่าซิงก์นั้นมีประโยชน์ต่อผู้ชายอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
ผิวแห้งมากจนแสบคัน ต้องทำไงดีเพื่อฟื้นฟูไม่ให้ผิวดูแห้งกร้าน? เสริมด้วยคอลลาเจน ตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ตึงกระชับผิว ศึกษาต่อได้ในบทความนี้