โดยเฉลี่ยคนเราจะใช้เวลาประมาณ 36% ในการนอน ซึ่งคนไทยมีอายุเฉลี่ยคือ 74 ปี ดังนั้นคุณจะใช้เวลาในการนอนถึงเกือบ 27 ปีเลยทีเดียว
เมื่อพูดถึงการนอนสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ คือ การนอนแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือช่วง REM (Rapid Eye Movement) และช่วง NON REM (Non Rapid Eye Movement)
NON REM (Non Rapid Eyes Movement)
เป็นช่วงของการนอนตั้งแต่เริ่มหลับ มีความฝันเกิดขึ้นน้อยมาก และหากฝัน ความฝันที่เกิดขึ้นจะเป็นฝันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่าฝันในช่วง REM ช่วงการหลับแบบ NON REM แบ่งออกเป็น 3 ขั้น ดังนี้
Stage 1 : เป็นช่วงที่เราเพิ่งจะเริ่มหลับ โดยทั่วไปจะเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 5-10 นาที หลังจากหลับตาลง ใน Stage นี้สมองจะเริ่มทำงานช้าลง ถ้าเราถูกปลุกให้ตื่นตอนนี้ เราจะไม่ค่อยงัวเงียหรือบางทีก็จะรู้สึกว่าเรายังไม่ได้นอน คลื่นสมองจะเป็นคลื่น Alpha และ Theta (คลื่น Alpha ที่ขึ้นลงอยู่ระหว่าง 8 14 รอบ และ Theta ขึ้นลงระหว่าง 4 7 รอบต่อวินาที) บางทีตาอาจจะกลอกไปมาช้าๆได้ ในการนอน Stage1 บางคนอาจจะเคยเจอปรากฎการณ์ ตกใจตื่น (Hypnic Jerk) หรือการรู้สึกเหมือนกำลังจะตกจากที่สูง แล้วก็สะดุ้งตัวตื่นขึ้นมา นอกจากนี้บางคนอาจจะได้ยินหรือเห็นอะไรบางอย่าง ซึ่งต่างประเทศเรียกกันว่า Hypnagogic Hallucination การนอน Stage1 ไม่ค่อยมีผลกับร่างกายมากนัก
Stage 2 : เป็นช่วงรอยต่อระหว่างการเริ่มหลับไปยังหลับลึก คลื่นสมองจะทำงานเร็วขึ้นมาก โดยจะอยู่ในรูปของคลื่น Beta ในระยะนี้นี่เองหัวใจจะเริ่มเต้นช้าลง อุณหภูมิในร่างกายจะเริ่มลดลงเล็กน้อย โดยช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในช่วงนี้สมองส่วนของ Cerebral Cortex และ Thalamus ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำ, ความสนใจ, การรับรู้ต่างๆ, ความคิด, ภาษา, และสติ จะทำงาน ดังนั้นการนอนสั้นๆเพียง 30 40 นาที ก็เพียงพอที่จะทำให้เรากระตุ้นการทำงานของสมองในส่วนของการเก็บข้อมูลเข้าความทรงจำระยะสั้น เพิ่มสมาธิ และยังทำให้ตื่นมาไม่งัวเงียมากนัก เนื่องจาก Thalamus ยังทำงานอยู่ ร่างกายจะรับรู้ต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น เสียง การสัมผัส ฯลฯ ได้ไม่ยากมากนัก และเราจะไม่ฝัน
Stage 3 : การหลับลึก (บางตำราจะแบ่งการนอนระยะนี้เป็น 2 stage คือ Stage 3 และ Stage 4 ซึ่งมี คลื่นสมองต่างกันเล็กน้อย แต่นับตั้งแต่ปี 2007 ทั้งสอง Stages ได้ถูกรวมเรียกเป็น Stage 3) ในช่วงนี้เองที่ร่างกายจะตอบสนองกับสิ่งรบกวนภายนอกน้อยลงมาก ถ้าเราถูกปลุกช่วงนี้เราจะรู้สึกงัวเงียมากที่สุด โดยปกติการหลับใน Stage นี้คลื่นสมองจะเป็นรูปแบบ Delta ซะเป็นส่วนใหญ่ ร่างกายจะอยู่ในสภาวะพักผ่อนมากที่สุดในช่วงนี้เอง การหลั่ง Growth Hormone เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย จะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ ในการหลับแบบ Non REM สามารถเกิดการฝันได้ โดยการฝันส่วนใหญ่ของ Non REM จะเกิดขึ้นช่วงกลางของการหลับลึก ความฝันในช่วงนี้จะเป็นฝันที่ค่อนข้างสมจริง ดังนั้น การละเมอ หรือการฉี่รดที่นอนก็จะเกิดขึ้นในช่วงนี้
REM (Rapid Eyes Movement)
คือการนอนหลับช่วงที่ตาเราจะเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้สมองของเราจะทำงานใกล้เคียงกับตอนที่เราตื่น จึงทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงที่คนเราจะฝันมากกว่าการนอนหลับช่วงอื่นๆ และการฝันนั้นจะค่อนข้างโลดโผน เห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในโลกปกติ สามารถทำอะไรพิสดารได้ อย่างเช่น เห็นปีศาจมาตามฆ่า สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ หรือฝันว่าเห็นภูติผีปีศาจต่างๆ ในช่วงนี้เองร่างกายจะสามารถพุ่งจากช่วงหลับ ไปเป็นช่วงครึ่งหลับครึ่งตื่น ซึ่งเมื่อเราอยู่ในช่วง REM เราจะควบคุมกล้ามเนื้อต่างๆ ไม่ค่อยได้ (Temporary Paralysis) เพื่อป้องกันการทำอันตรายตัวเอง หรือ ผู้อื่น การนอนหลับช่วง REM มีประโยชน์อยู่สองอย่าง คือ ช่วยเรื่องการเรียนรู้ถาวร และการสร้างจินตนาการ
นอนเท่าไหร่ถึงจะพอ ?
หลายๆคนคงคิดว่าคนเราต้องนอนให้ได้ 8ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ แต่จริงๆแล้วตัวเลข 8ชั่วโมง เป็นแค่ค่าเฉลี่ยเท่านั้น การนอนให้เพียงพอคือการนอนจนรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเอง และสามารถอยู่ได้จนไม่เพลียตลอดทั้งวัน ค่าเฉลี่ยการนอนแตกต่างกันไปตามช่วงอายุอีกด้วยครับ รวมถึง % ของ REM Sleep อีกด้วย
นอนอย่างไรถึงจะไม่แก่?
ถ้าเราสังเกตุจาก รูปแบบการนอน ที่กล่าวมาข้างต้นการ การนอนที่ซ่อมแซมร่างกาย มีเพียงช่วง 3-4 ชั่วโมงแรกเท่านั้น ซึ่งการนอนช่วงนี้จะทำให้เราหน้าเด็กขึ้น เนื่องจากการสร้าง Growth Hormones ออกมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย แต่จริงๆวิธีที่จะทำให้เราหน้าเด็กมากขึ้นจากการนอนปกติ ก็คือเราต้องแบ่งการนอนออกเป็น สองช่วง โดยนอนครั้งแรกประมาณ 4 ชั่วโมง จากนั้นตื่นขึ้นมาประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วนอนต่อ จะทำให้เกิดการสร้าง Growth Hormones ในการนอนครั้งหลังด้วย (Takahashi et al., 1968) การนอนแบบนี้จะเป็นเหมือนการนอนแบบสมัยโบราณ ซึ่งทำให้เรา นอนอิ่มมากขึ้น และจะไม่ค่อยรู้สึกเหนื่อยระหว่างวันอีกด้วย นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่า การนั่งสมาธิระดับสูง (Deep Meditation) ก็สามารถปล่อย Growth Hormones ได้อีกด้วย
ถ้าเราจำเป็นต้องนอน น้อยๆ จะทำอย่างไรดี ?
เมื่อมีความจำเป็นต้องนอนน้อยๆ เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่กล่าวมาในตอนต้นได้เช่นกัน วิธีการนี้ เรียกว่า Power Nap ซึ่งก็คือ การนอนระยะสั้นๆเพื่อให้ร่างกายได้พักบ้าง จะใช้ระยะเวลาในการนอนประมาณ 25-30 นาที เพื่อให้ร่างกายผ่านช่วง Non REM Stage 1 ไปยังช่วง Non REM Stage 2 ร่างกายจะรู้สึกว่าได้นอนพอสมควร ซึ่ง Power Nap นี้จะสามารถทดแทนการนอนได้ประมาณ 2 ชั่วโมงต่อครั้งเลยทีเดียว แต่ถ้าทำอย่างนี้ร่างกายจะไม่ค่อยสร้าง Growth Hormones เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ดังนั้นจึงไม่ควรทำในระยะยาว
Trick สำหรับคนที่ต้องการประยุกต์ใช้วิธีนี้เข้ากับการนอนปกติ แต่มีข้อแม้ว่า คุณต้อง นอนเป็นเวลาทุกๆวัน ถ้าทำได้ก็อ่านต่อเลยครับ การใช้ Power Nap ให้ได้ผลระยะยาวนั้น จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับการนอนยาวประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง (แล้วแต่คน) ให้เราเริ่มนอนเวลาเดียวกันทุกวัน เป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป แล้วตั้งนาฬิกาปลุกให้ตัวเราตื่นอยู่ในช่วง REM ครั้งที่ 2 (ปกติการนอนจนครบ 1 รอบ จะใช้เวลาประมาณ 90 นาที +/- 15 นาที) ถ้าเราไม่งัวเงียเวลาตื่นแสดงว่าใช้ได้แล้ว แต่ถ้างัวเงีย ให้เลื่อนนาฬิกาให้ เร็วขึ้นหรือช้าลง ประมาณ 5 นาที สำหรับวันถัดไป เพื่อหาช่วง Non REM Stage 1 หรือ REM พอทำอย่างนี้ระหว่างวันเราอาจจะง่วงบ้าง ก็ให้ใช้ Power Nap ช่วย 2 ครั้ง (โดยปกติ ควรจะเป็นช่วงก่อนทานข้าวกลางวัน และ ก่อนทานข้าวเย็น) รวมแล้วจะทำให้เราใช้เวลานอน แค่ประมาณ 4-5 ชั่วโมง แต่จะได้ความสดชื่นใกล้เคียงกับ การนอนเต็มที่ 8 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ข้อเสียของการทำแบบนี้ คือ เราจะไม่ค่อยได้สร้างความทรงจำระยะยาวเท่าไหร่ เนื่องจากช่วง REM ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ มีช่วงค่อนข้างสั้น ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่เหมาะกับ คนที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แบบถาวรเท่าไหร่นัก
การนอนกลางวัน ฟังดูเหมือนเป็นเหมือนกิจวัตรของคนขี้เกียจ เป็นกิจกรรมของเด็ก คนแก่หรือคนป่วย เอ๊ะ! แล้วทำไมผู้มีชื่อเสียง เช่น วินสตัน เชอร์ชิล , อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ก็ยังชอบงีบหลับระหว่างวันเช่นกันล่ะ การงีบหลับระหว่างวันมีความสำคัญอย่างไรนะ? การนอนกลางวันถือเป็นเคล็ดลับสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ความจำ และการตื่นตัวได้หรือเปล่า?
ดร.ฮาร์วีย์ ไซมอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวถึงการงีบหลับระหว่างวันของผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ว่าหากเป็นไปโดยสมัครใจ คือไม่ได้เกิดจากการอดนอนตอนกลางคืนจะถือเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยอ้างจากผลการศึกษาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 200 คน ที่ทำงานวันละ 9 ชั่วโมง รวม 8 วัน จากทั้งหมด 12 วัน พบว่า คนที่ได้งีบหลับวันละ 40 นาที จะมีความตื่นตัวและประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น อีกการการศึกษาหนึ่งที่ศึกษากลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ (shift work) กับอาสาสมัครอื่นๆ พบว่า คนที่ได้งีบหลับวันละ 20 นาที จะมีความตื่นตัว ประสิทธิภาพ ทักษะและอารมณ์ดีขึ้น
นอนหลับเยอะแล้ว แต่ตื่นมาไม่ค่อยสดชื่นทำอย่างไรดี ?
เนื่องจากการนอนนั้นมีระดับที่แตกต่างกัน ถ้าคุณถูกปลุกอยู่เรื่อยๆ ในการนอนระดับตื้นๆ เช่น Non REM Stage 1 และ 2 อยู่ตลอดทั้งคืน แน่นอนว่าคุณจะไม่ได้พักผ่อนมากอย่างที่คุณคิด ถึงแม้ว่าคุณจะนอนนานเป็น 10 ชั่วโมงก็ตาม ดังนั้นถ้าคุณอยากจะนอนให้อิ่ม คุณจำเป็นต้องสร้างสิ่งที่พึงประสงค์สำหรับการนอนขึ้นมาโดย
- ทำให้ห้องมืดที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หรือใช้ ผ้าปิดตา
- ลดความเครียดให้น้อยที่สุด
- ลดเสียงรบกวน หรือ ใช้ Ear Plug
- พยายามอย่ากระตุ้นการตื่นตัวของร่างกายด้วยสารกระตุ้น เช่น คาเฟอีนหนักๆ (เช่น กาแฟ) ตั้งแต่ช่วงบ่าย และ หลีกเลี่ยง คาเฟอีนทุกอย่างในช่วงค่ำ (เช่น ชา น้ำอัดลม)
- พยายามลด การใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิคที่มีความถี่สูง เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือ Smartphone เนื่องจากความถี่สูงจากการเห็นจะกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว 30 นาที ก่อนที่จะนอน
- ลดกิจกรรมบางประเภทที่ทำให้ สมองตื่นตัว เช่น การแปรงฟัน การส่องกระจก หรือ เล่นเกมส์ 30 นาที ก่อนที่จะนอน
- เพิ่มกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้ สมองผ่อนคลาย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือ การนั่งสมาธิ
ถ้าคุณตื่นโดยใช้นาฬิกาปลุก
เป็นไปได้มากที่คุณจะถูกปลุกให้ตื่นในช่วง Non REM Stage 3 ดังนั้นการแก้ทำได้ประมาณนี้ ให้ปรับเวลาของนาฬิกาปลุกเพิ่มขึ้น หรือ ลดลง ตั้งแต่ 5 – 30 นาที ในการใช้วิธีนี้พยายามนอนเวลาเดิม เพื่อทำให้ Biology Clock เดินปกติ
- ลุกทันทีเมื่อรู้สึกตัวครั้งแรก (พยายามตื่นก่อนนาฬิกาปลุก) อย่ากด Snooze หลายๆ ครั้งอย่างที่ทำอยู่
- ปรับการ Snooze จาก 5 นาที เป็น 20 นาที จะทำให้การนอนอิ่มขึ้น (เหมือนได้ Power Nap 1 ครั้ง)
References
- Y. Takahashi, D. M. Kipnis, and W. H. Daughaday, (1968), Growth hormone secretion during sleep, Journal of Clinical Investigation: September; Vol 47, No. 9: pp. 20792090.
- http://healthysleep.med.harvard.edu/glossary/n-p
- Roffwarg, H.P., Muzic, J.N., Dement, W.C., (1966), Ontogenetic Development of Human Sleep-Dream Cycle, Science, Vol. 152: pp. 604-619
- http://academic.pgcc.edu/~mhspear/sleep/stages/nrsleep.html
- Walker et al., (2002), Practice with Sleep makes Perfect: Sleep dependent motor skill learning, Neuron, Vol. 35: pp. 205-211
- Payne J.D., (2011), Learning, Memory, and Sleep in Human, Sleep Med Clin, Vol. 6: pp. 15-30
แหล่งที่มา : นอนอย่างไรให้สดชื่น