โรคไอบีเอส(IBS) โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน

ibs
โรคไอบีเอส (IBS) หรือชื่อเต็มภาษาอังกฤษคือโรค Irritable Bowel Syndrome หรือในชื่อไทยคือโรคลำไส้ทำงานแปรปรวน โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคใหม่ แต่เป็นโรคที่มีมานานแล้วเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก อาการของโรคไม่มีความเฉพาะเจาะจง แพทย์จึงไม่ค่อยได้มีการวินิจฉัยโรคนี้ ในปัจจุบันมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคไอบีเอสให้ชัดเจนขึ้น จึงมีการวินิจฉัยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น

โรคไอบีเอสคือโรคอะไร

โรคไอบีเอสหรือโรคลำไส้ทำงานแปรปรวน เป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติไป ทำให้เกิดการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติทางพยาธิสภาพที่ลำไส้ เช่น ส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่มีอาการ อักเสบ ไม่มีแผล ไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็ง เป็นต้น และการตรวจเลือดต่างๆ ก็ไม่พบความผิดปกติ รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่นๆที่จะมีผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น โรคไอบีเอสเป็นโรคเรื้อรัง มักเป็นๆหายๆหรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมแม้จะเป็นมาหลายๆปี และไม่ทำอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญและความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยอย่างมากได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่าทำไมโรคไม่หายแม้ได้ยารักษา ทำให้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และประสิทธิภาพของการทำงานลดลง

โรคไอบีเอสพบบ่อยหรือไม่

ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปพบร้อยละ 10-20 ของประชากรในประเทศญี่ปุ่นพบร้อยละ 25 ของประชากร ในประเทศไทยมีข้อมูลค่อนข้างน้อยในการศึกษาเรื่องนี้ ข้อมูลที่มีอยู่คือพบได้ประมาณร้อยละ 7 ของประชากร แต่ถ้าศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย ที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังแล้วมาพบแพทย์ จะพบว่าเป็นโรคไอบีเอสถึงร้อยละ 10-30 จากตัวเลขดังกล่าว ในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยไอบีเอสประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ซึ่งอาจจะเป็นการประมาณที่ต่ำกว่าเป็นจริง เพราะว่าในรายที่มีอาการไม่มากอาจคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นโรคนี้ พบว่ามีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่ไปพบแพทย์ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นโรคร้ายแรง เช่น กลัวเป็นมะเร็ง มากกว่าที่จะไปพบแพทย์ เพราะความรุนแรงของโรค

ไอบีเอสพบบ่อยในผู้หญิง

โรคไอบีเอสพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จริงหรือไม่

ในต่างประเทศ โดยทั่วไปพบโรคไอบีเอสได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ช่ายประมาณ 2:1 ถึง 4:1 สำหรับสาเหตุที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนั้นยังไม่รู้สาเหตุที่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างกันคือผู้หญิง เมื่อมีอาการของโรคแม้จะไม่รุนแรง มักจะไปพบแพทย์มากกว่าผู้ชาย ส่วนข้อมูลในบ้านเราพบในผู้หญิงและผู้ชายจำนวนใกล้เคียงกันหรือพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย

โรคไอบีเอสพบบ่อยในวัยใด

โรคไอบีเอสพบได้ทุกวัยตั้งแต่ในวัยรุ่นจนถึงวัยสูงอายุโดยพบได้บ่อยในคนวัยทงานคืออายุ เริ่มต้นเฉลี่ยระหว่าง 20-30 ปีและจะพบได้บ่อยไปจนถึงอายุ 60 ปี หลังอายุ 60 ปี จะพบน้อยลง และพบว่าโรคไอบีเอสมักพบได้บ่อยในคนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมชั้นกลางถึงชั้นสูง

จะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเป็นโรคไอบีเอส

ในคนปกติการถ่ายอุจจาระของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันมากบางคนจะถ่ายอุจจาระทุกวัน บางคนถ่ายอุจจาระเป็นบางวัน โดยทั่วไปถือว่าการถ่ายอุจจาระที่ปกติคือ การถ่ายอุจจาระ ไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน หรือไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะอุจจาระที่ปกติจะต้องเป็นก้อน แต่ต้องไม่แข็งเป็นลูกกระสุนหรือเหลวมากหรือเป็นน้ำ ต้องไม่มีเลือดปนและไม่มีปวดเกร็งท้องร่วมด้วย อาการปวดจะดีขึ้นหลังถ่ายอุจจาระพร้อมๆกับปวดท้อง ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของการถ่ายอุจจาระร่วมด้วย อาจเป็นท้องเสียหรือท้องผูกก็ได้ หรือเป็นท้องผูกสลับกับท้องเสีย ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนไปเป็นก้อนหรือเหลวจนเป็นน้ำ ผู้ป่วยอาจถ่ายอุจจาระลำบากขึ้นต้องเบ่งมากหรืออาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระทันที กลั้นไม่อยู่ ผู้ป่าวยจะรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แม้เพิ่งไปถ่ายอุจจาระมา มีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด จะมีการถ่ายเป็นมูกปนมากับอุจจาระมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีท้องอืดมีลมมากในท้อง เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการเหล่านี้เป็นๆหาย รวมเวลาแล้วมักนานเกิน 3 เดือน ในช่วง 1 ปี ที่ผ่าน ส่วนใหญ่มักมีประวัติเป็นมานานหลายปีถ้าผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นเลือด มีไข้ ซีดลง มีอาการช่วงหลังเที่ยงคืน หรือมีอาการปวดเกร็งท้องมากตลอดเวลา อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ใช่โรคไอบีเอส

พบหมอ

โรคไอบีเอสวินิจฉัยได้อย่างไร

โรคไอบีเอสจะได้รับการวินิจฉัยก็ต่อเมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแยกโรคอื่นๆแล้วหรือหาโรคอื่นที่จะอธิบายว่าเป็นสาเหตุของโรคไอบีเอสไม่ได้ในวัยรุ่นหรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี แพทย์จะวินิจฉัยโรคไอบีเอสโดยอาศัยอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก และจะให้การรักษาไปก่อนโดยไม่จำเป็นต้องทำการสืบค้น สำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือผู้ที่มีอายุมากว่า 40 หรือ 50 ปี นอกจากแพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้วจะทำการสืบค้น ได้แก่ ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ตรวจเอกซ์เรย์ลำไส้ใหญ่ หรือ ส่องกล้องตรวจ ลำไส้ใหญ่ ซึ่งผลการตรวจร่างกายและการสืบค้นต่างๆจะต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ

โรคไอบีเอสมีสาเหตุจากอะไร

แม้โรคไอบีเอส จะเป็นโรคที่พบบ่อย และมีการศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้อย่างมากมานานแล้วก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน จากหบักฐานที่มีอยู่เชื่อว่ามีเหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคไอบีเอสซึ่ง 3 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

  1. การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติซึ่งเป็นผลจากการหลั่งสารฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติ นำไปสู่อาการ ปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก
  2. ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหารซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการตอบสนองมากผิดปกติ มีการบีบตัวและเคลื่อนที่ของลำไส้มากขึ้นจนมีอาการปวดท้องและท้องเสียหรือท้องผูก เป็นต้น นอกจากอาหารแล้วตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญคือความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนหนุนเสริมให้มีอาการมากขึ้น
  3. มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก,ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง (brain-gutaxis) โดยเกิดจากความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงานซึ่งมีหลายชนิดและทำหน้าที่แตกต่างกัน

โรคไอบีเอสกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่

โรคไอบีเอสไม่ใช่โรคมะเร็งและจะไม่กลายเป็นโรคมะเร็งแม้จะมีประวัติเป็นๆหายๆมานาน ยิ่งผู้ป่วยมีอาการมานานเป็นปีๆโอกาสเป็นโรคมะเร็งยิ่งน้อยมาก ที่ต้องระวังคือในผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการเปลี่ยนแปงไปจากเดิม หรือเพิ่งมามีอาการท้องเสียหรือท้องผูกหลังอายุ 40-50 ปี อาจมีโอกาสที่จะมีสาเหตุจากโรคมะเร็งลำไส้สูงขึ้นคือมีโรคมะเร็งลำไส้มาเกิดร่วมกับโรคไอบีเอส ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจและสืบค้นโดยแพทย์ให้รู้สาเหตุที่แน่นอน

โรคไอบีเอสรักษาหายขาดหรือไม่

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคไอบีเอส จึงไม่มียาที่ดีเฉพาะโรคนี้หรือการรักษาที่ได้ร้อยเปอร์เซนต์แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาระบายในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผู้เป็นอาการเด่น หรือให้ยากแก้ท้องเสียถ้ามีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ให้ยาต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้เพื่อช่วยลดอาการปวดท้องดังนั้นการรักษาจึงยังไม่ได้ผลดี ผู้ป่วยจึงมีอาการเป็นๆหายๆมักไม่หายขาด

อาการและความเครียดมีผลต่อโรคไอบีเอสหรือไม่

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการหลังมื้ออาหารหรือเมื่อเครียด ซึ่งมีการศึกษาว่ามีหลักฐานยืนยันในเรื่องดังกล่าวปกติการกินอาหารจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 30 นาทีถึง 1 ชม. หลังอาหารแต่ในผู้ป่วยไอบีเอสจะมีการกระตุ้นให้มีการบีบตัวของลำไส้เร็วขึ้นและรุ่นแรงมากขึ้นจนมีอาการปวดท้องเกร็งและมีท้องเสียเกิดขึ้น ส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่ ไขมัน ไม่ว่าจะเป็นไขมันจากสัตว์ หรือพืช จะเป็นตัวกระตุ้นที่รุนแรงของการบีบตัวของลำไส้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ทุกชนิด หนังเป็ดหนังไก่ นม ครีม เนย น้ำมันพืช และอะโวคาโด อาหารที่มีกากหรือเส้นใย (fiber) จะช่วยลดอาการของไอบีเอสได้โดยจะทให้การบีบตัวหรือเกร็งตัวของลำไส้ลดลง นอกจากนี้กากหรือเส้นใยยังช่วยดูดน้ำไว้ในตัวอุจจาระ ทำให้อุจจาระไม่แข็งและถ่ายได้ง่ายขึ้น อาหารที่มีกากหรือเส้นใยสูง เช่น ขนมปังชนิด whole-grain cereal ถั่ว ผลไม้ และผัก เป็นต้น การกินอาหารที่มีกากหรือเส้นใยมาก จะทำให้มีท้องอืดมีแก๊สในท้องได้ แต่จะเป็นเฉพาะช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ต่อไปร่างกายจะปรับตัวได้เอง การกินอาหารควรกินทีละน้อยแต่กินให้บ่อยขึ้น ไม่ควรกินจนอิ่ม เพราะจะกระตุ้นให้มีอาการปวดท้องและท้องเสียได้ง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โดยกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง และน้ำตาลให้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด กาแฟ ของดอง น้ำอัดลมและยาบางชนิด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นด้วย ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตั้นให้มีอาการเกร็งตัวของลำไส้เพิ่มขึ้น จึงควรผ่อนคลายความเครียดทำจิตใจให้สบาย และพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ ถือเป็นส่วนสำคตัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยไอบีเอสด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากโรคไอบีเอสมักมีแนวโน้มจะกลับมามีอาการอีกเมื่อได้รักษาให้ดีขึ้นแล้ว การปรับการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตัวดังกล่าวแล้วควรทำไปตลอด ซึ่งนอกจากจะทำให้อาการลดลงแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการขึ้นใหม่และจะได้ไม่ต้องกินยามากอีกด้วย

การพยากรณ์ของโรคไอบีเอสเป็นอย่างไร

โรคไอบีเอสเป็นโรคเรื้อรังเป็นๆหายๆจากการศึกษาติดตามผู้ป่วยประมาณ 4600 คน เป็นเวลา 5-8 ปี พบว่าร้อยละ 74-95 ยังคงมีอาการอยู่เช่นเดิม จะเห็นได้ว่าโรคไอบีเอสเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและไม่ทำให้ผู้ป่วยตาย ดังนั้นเมื่อท่านได้ไปพบแพทย์และได้รับการตรวจและทำการสืบค้นต่างๆแล้วว่า ปกติแล้วแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอบีเอส ท่านควรมีความมั่นใจและเลิกวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรง แต่โรคนี้จะเรื้อรัง บางรายอาจเป็นๆหายๆไปตลอดชีวิต ซึ่งควรได้รับการติดตามโดยแพทย์เป็นระยะๆตลอดไป

Logo_TH1_New (1)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 0-2421-3870 (เวลา 08.00-22.00น.)
HOT LINE 1645 กด 1 หรือ 0-2487-2000 ต่อ 7470-1
เปิดบริการทุกวัน
Email : th@thonburihospital.com
www. http://thonburihospital.com

 

แชร์:

ใส่ความเห็น