การดูแลหญิงมีครรภ์ขณะรอคลอด
ช่วงที่เข้าสู่ระยะการคลอดของหญิงมีครรภ์ เมื่อมีอายุครรภ์ครบ 10 เดือน สรีรวิทยาของระบบในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอด
การเปลี่ยนแปลงของหญิงมีครรภ์ขณะรอคลอด
อาการและอาการแสดงที่บ่งชี้ว่าหญิงมีครรภ์จะเข้าสู่ระยะการคลอดแล้ว จะมีอาการเจ็บครรภ์จริง จากการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่
-กล้ามเนื้อมดลูกจะมีการหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นจังหวะ มีความถี่ ความนาน และความรุนแรงของการหดรัดตัวเพิ่มมากขึ้น
-ปากมดลูกจะมีการบางตัวและเปิดขยายออก
-ทางช่องคลอดจะมีมูกและมูกปนเลือดออกมา
การเปลี่ยนแปลงของระบบหัวใจและหลอดเลือด
มีการสูบฉีดเลือดของร่างกายเพิ่มขึ้น และมีค่าความดันของโลหิตเพิ่มขึ้นด้วย
การเปลี่ยนแปลงของระบบหายใจ
อัตราการหายใจจะเพิ่มมากขึ้นในขณะที่มดลูกมีการหดรัดตัวอย่างเต็มที่ และเมื่อมีการคลายตัวของมดลูก อัตราการหายใจก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ
การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารและการเผาผลาญพลังงาน
อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากกระเพาะอาหารทำงานได้ช้าลง และการดูดซึมของลำไส้ก็ลดลงไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย
การกรองของไตมีเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำปัสสาวะมีมากขึ้น และเนื่องจากศีรษะของทารกเลื่อนต่ำลงมากดเบียดทวารหนักจึงทำให้รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ
การเปลี่ยนแปลงของระบบต่อมไร้ท่อ
การหลั่งฮอร์โมนและการเผาผลาญพลังงานมีเพิ่มมากขึ้น
การดูแลหญิงมีครรภ์ขณะรอคลอด
จากผลที่ระบบต่างๆ ของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เกิดความไม่สุขสบายของหญิงมีครรภ์ขณะรอคลอด การหดรัดตัวของมดลูกเป็นระยะๆ ก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้น หญิงมีครรภ์ในระยะนี้ควรมีการดูแลดังนี้
การดูแลด้านสุขวิทยา
-ควรให้รับประทานอ่อนที่สามารถย่อยได้ง่าย
-ควรให้มีการพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ
-ควรเปลี่ยนท่าบ่อยๆ ในขณะที่รอคลอด ไม่ควรนอนอยู่กับที่นานๆ เช่น ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน ท่านอนตะแคง การลุกขึ้นยืน การเอนตัวไปข้างหน้า
การบรรเทาความเจ็บปวด
ความเจ็บปวดที่เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก สามารถบรรเทาได้ด้วยการนวดบริเวณหลัง ใช้ความร้อนหรือความเย็นประคบ และให้ผ่อนลมหายใจเข้าออก
การดูแลด้านจิตสังคม
ผู้ทำคลอดควรให้ความสนใจซักถามถึงอาการความเจ็บปวด และความต้องการของผู้คลอดเป็นระยะๆ ให้กำลังและคอยปลอบโยน
วิธีปฏิบัติแผนไทยต่อหญิงมีครรภ์ขณะรอคลอด
ขั้นตอนที่หมอตำแยและคนใกล้ชิดหญิงมีครรภ์ต้องปฏิบัติ เพื่อให้การคลอดดำเนินไปอย่างปกติ เมื่อใกล้เวลาเจ็บท้องได้กำหนดจะคลอดบุตร ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายประการ และประกอบไปด้วยวิธีปฏิบัติตามความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ด้วย เช่น
-ให้เปิดประตูหน้าต่าง ลิ้นชัก ตู้ต่างๆ ต้องไขสลักหรือไขกุญแจออกให้หมด
-ห้ามพูดคำว่า ค้างคา ติด ขัด และห้ามยืนหรือนั่งคาประตู
-ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือเมื่อจะคลอด เพื่อให้ลูกเลื่อนลงทางทิศใต้ได้สะดวก
-จุดธูปเทียนบูชาและขอขมาลาโทษต่อพระภูมิที่มาออกลูกในท้องที่ของท่าน
-จัดขันข้าวให้หมอตำแยตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น
ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี
อ้างอิง : หญิงมีครรภ์ขณะรอคลอด