สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงานยอดผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 สิงหาคม 2561 มีผู้ป่วยแล้ว 80,310 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน (อายุ 7-14 ปี) และผู้ใหญ่ (อายุ 15 – 44 ปี) ส่วน 5 จังหวัดที่อัตราป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ระยอง พะเยา และอุตรดิตถ์ ขอให้ประชาชนระวังการรับเชื้อจากผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดหรือมีคนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด เป็นต้น
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคตามฤดูกาลที่จะพบมากในฤดูฝนและฤดูหนาว แต่อย่างไรก็ตามโรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้โดยยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์
1. ปิด ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอหรือจามทุกครั้ง หากจำเป็นต้องเดินทางไปในสถานที่ที่คนพลุกพล่านควร ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและการกระจายของไข้หวัดไปสู่บุคคลอื่น
2. ล้าง ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลล้างมือ เมื่อต้องสัมผัสราวบันได ราวบนรถโดยสาร สำหรับการล้างมือนั้นแนะนำให้ล้างมือให้นาน เพื่อให้มั่นใจว่าสะอาดและปลอดภัยจริง ๆ ล้างโดยร้องเพลง ช้าง จบ 1 รอบ
3. เลี่ยง หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด หรือ การคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัด
4. หยุด เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดการไปสถานที่ชุมชม หรือ หยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้บุคคลอื่น แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้
1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2.เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
7.ผู้ที่เป็นโรคอ้วน(น้ำหนัก >100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
สาระดีๆจาก : paolohospital