ภาวะสมองเสื่อม หรือ Dementia คือ ภาวะที่มีปัญหาด้านความจำบกพร่อง ร่วมกับมีอาการอื่น ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาการอื่นๆ เช่น นึกคำพูดไม่ออก บวกลบเลขง่ายๆไม่ได้ ความสามารถในการตัดสินใจ การสื่อสารแย่ลง ไม่สามารถทำอะไรที่ง่ายที่เคยทำประจำ เช่น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ค่อยได้พฤติกรรม หรือ บุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น
ภาวะบางอย่างอาจมีอาการความจำไม่ดี แต่ไม่จัดว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคซึมเศร้า การอดนอน ความเครียด จนขาดสมาธิในการจดจำ
โรคสมองเสื่อมแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
– แบบที่รักษาให้หายได้
– แบบที่รักษาให้หายไม่ได้
คนที่สงสัยว่าจะมีอาการสมองเสื่อม ควรพบแพทย์ทางระบบประสาท เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุที่สามารถรักษาได้ โรคในกลุ่มนี้ เช่น เนื้องอกในสมอง โรคไทรอยด์ โรคติดเชื้อ โรคขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น
สำหรับสมองเสื่อมจากสาเหตุที่รักษาไม่หายนั้น สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ก็คือโรคอับไซเมอร์ นั่นเอง นอกนั้นก็เป็นโรคทางสมองอื่นๆ ที่พบได้รองลงไป เช่น หลอดเลือดสมองตีบ หรือเป็นทั้ง อัลไซเมอร์ และ หลอดเลือดสมองตีบร่วมกัน เป็นต้น
อาการที่สำคัญของโรคสมองเสื่อม
– ความจำเสื่อม โดยเฉพาะความจำระยะสั้น
-ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้
– มีปัญหาในการใช้ภาษา
– มีปัญหาในการลำดับ ทิศทาง และเวลา
– สติปัญญาด้อยลง
– วางของผิดที่ผิดทาง
– อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย รวดเร็ว
– บุคลิกเปลี่ยนแปลงไป
– อาจมีอาการหลอน เช่น เห็นภาพหลอน
สาเหตุ
1.การเสื่อมสลายของเนื้อสมอง โดยไม่ทราบตัวการที่ชักนำทำให้เซลล์สมองตาย พบว่ามีสารสะสมในเซลล์สมองที่ เรียกว่า B-Amyloid ทำให้เซลล์สมองนั้นสลายตายไป และไม่มีเซลล์สมองใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้สมองที่เหลืออยู่ไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างเดิมโรคที่มีลักษณะความผิดปกติแบบนี้ คือ อัลไซเมอร์
2.ปัญหาหลอดเลือดสมอง เมื่อคนที่อายุมากขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั้งตัวมากบ้างน้อยบ้างตามแต่พันธุกรรม อาหารการกินและพฤติกรรมต่างๆของแต่ละคน การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีไขมันมาสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขรุขระ ไม่เรียบ และ ตีบลง ซึ่งทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่สมบูรณ์ เนื้อสมองบางส่วนจะค่อยๆตายไป ทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองลดลง
3.การติดเชื้อในสมอง ถ้ามีการติดเชื้อในสมองจะเกิดการอักเสบ จะทำให้เซลล์สมองบางส่วนตายไป เช่น โรคซิฟิลิส HIVวัณโรค และ ไวรัสบางชนิด โรควัวบ้า
4.เกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน B1,B12 ,Folic Acid เช่น ผู้ป่วยที่ดื่มสุรามาก
5.การแปรปรวนของระบบเมตาบอลิกของร่างกาย เช่น การ ทำงานของต่อมไร้ท่อบางชนิดผิดปกติไป โดยเฉพาะต่อมไทรอยด์ ทำงานมากหรือน้อยไป ก็ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้งสิ้น
6.การกระทบกระเทือนที่สมอง
7.เนื้องอกในสมอง
8.สมองเสื่อมเกิดจากโพรงน้ำในสมองขยายใหญ่ขึ้นจากน้ำเลี้ยงสมองคั่งจนเบียดเนื้อสมองทำให้ทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีการซอยเท้า ก้าวสั้นๆ ปัสสาวะราด เข้าห้องน้ำไม่ทันร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม
เมื่อมีอาการน่าสงสัยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อซักประวัติเพิ่มเติมและตรวจร่างกายรับการทดสอบภาวะความจำ หากผลตรวจน่าสงสัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดทั่วไป เพื่อคัดแยกโรคต่างๆ ที่มีผลต่อความจำ หรือ ทำให้สมองเสื่อม แพทย์อาจทำการตรวจปัญหาที่เกิดขึ้นในสมองโดยการถ่ายภาพสมองโดยเครื่อง MRI บางรายอาจได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วย MRA
แนวทางการป้องกันโรคสมองเสื่อม
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด
2. ระวังการให้สารที่อาจเกิดอันตรายกับสมอง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาที่ไม่จำเป็น
3. ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น งดสูบบุหรี่
4. การฝึกสมองและพยายามทำกิจกรรมที่ได้ใช้สมองอย่างสม่ำเสมอ หรือ กิจกรรมทางสังคม อย่างน้อยให้มีกิจกรรมกับคนในครอบครัว
5. การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
6. ตรวจเช็คสุขภาพปีละ 1 -2 ครั้ง
7. ระมัดระวังอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่ศีรษะ
8. หลีกเลี่ยงความเครียด
การดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อม
1. ช่วยทำกิจกรรมประจำวันให้ผู้ป่วย การจัดวางของใช้ของผู้ป่วยให้เป็นที่มองหาง่าย ติดปฏิทินใบใหญ่ ให้ผู้ป่วยทำเครื่องหมายกากบาทเมื่อผ่านไปแต่ละวัน ทำป้ายเตือนความจำ
2. ลดปัญหาในการสื่อสารและการใช้ภาษาพูดคุยกับผู้ป่วย ใช้คำถามตรงๆ ไม่ซับซ้อน
3. เมื่อผู้ป่วยมีอาการระแวงและกล่าวโทษผู้อื่น ไม่ควรโต้เถียง ควรพูดคุยด้วยความนุ่มนวล และเบี่ยงเบนความสนใจไปยังกิจกรรมอื่น
4. นอนไม่หลับ เป็นปัญหาที่สำคัญ ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ดูแลให้ผู้ป่วยออกกำลังกายในตอนกลางวัน
5. ดูแลการรับประทานยาให้ถูกต้อง ถ้าผู้ป่วยจัดยากินเอง จะมีความผิดพลาดสูงได้
โรงพยาบาลธนบุรี
Hotline: 1645 กด 1 หรือ 02-487-2000
E-mail: thonburihospital1@gmail.com
Website: www.thonburihospital.com/2015_new
Facebook: https://www.facebook.com/thonburihospitalclub
IG: https://www.instragram.com/thonburi_hospital