สาระน่ารู้กับโรงพยาบาลธนบุรี : ภาวะข้อเท้าแพลง

สาระน่ารู้กับโรงพยาบาลธนบุรี : ภาวะข้อเท้าแพลง

ภาวะข้อเท้าแพลง01

ภาวะข้อเท้าแพลง

ภาวะข้อเท้าแพลงคือ ภาวะที่มีการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็นที่ยึดตรึงบริเวณข้อเท้า  สาเหตุมาจากการบิดหมุนของข้อเท้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลให้เกิดการยืดอย่างเฉียบพลันของเส้นเอ็นยึดตรึงข้อเท้า การบาดเจ็บมีได้ตั้งแต่เส้นเอ็นมีลักษณะฟกช้ำไปจนถึงฉีกขาด

สาเหตุ

ข้อเท้าแพลงมักเกิดจากการบิดหมุนของเท้าอย่างรวดเร็วออกจากตัวข้อเท้า โดยส่วนมากมักเกิดขณะกำลังเล่นกีฬา แล้วเกิดมีเท้าพลิกเฉียบพลัน มีการสะดุด หกล้มขณะวิ่ง หรือ เดิน ข้อเท้าแพลงสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ และทุกวัย การใส่รองเท้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ พื้นที่เดินหรือวิ่งไม่เรียบ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงให้มีโอกาสเกิดข้อเท้าแพลงได้มากขึ้น

ภาวะข้อเท้าแพลง02

อาการของข้อเท้าแพลง

ผู้ที่มีภาวะข้อเท้าแพลงจะมีอาการ ได้แก่ ปวด บวม มีร่องรอยฟกช้ำ จ้ำเลือด เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังส่วนของเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยจะไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ หรือ ลงน้ำหนักได้ลำบาก และ มีอาการเจ็บตอนลงน้ำหนัก ทั้งนี้ การบาดเจ็บของเอ็นข้อเท้าสามารถบาดเจ็บเป็นระดับความรุนแรงได้หลายระดับ ทำให้อาการมีความรุนแรงแตกต่างกัน

เนื่องจากอาการแสดงของภาวะข้อเท้าแพลงมีความคล้ายคลึงกับการบาดเจ็บจากภาวะอื่น  อันได้แก่ กระดูกข้อเท้าหัก หรือ กระดูกเท้าหัก ดังนั้นการส่งผู้ป่วยทำเอ๊กเรย์เพิ่มเติมถือว่ามีความจำเป็นในการแยกภาวะดังกล่าวออก หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเท้าแพลงแบบเรื้อรังที่ยังมีอาการอย่างต่อเนื่อง การส่งตรวจเอ๊กเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มีประโยชน์ในการประเมินลักษณะการบาดเจ็บของเส้นเอ็นนั้นๆได้

ภาวะข้อเท้าแพลง03

การรักษา

โดยทั่วไปแล้วการรักษาภาวะข้อเท้าแพลงประกอบไปด้วย

  • การพักการใช้งาน และลดการลงน้ำหนักข้อเท้าข้างที่ได้รับบาดเจ็บ
  • การลดการเคลื่อนไหวของข้อเท้า เพื่อให้เอ็นที่บาดเจ็บนั้นสามารถสมานตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยใช้อุปกรณ์ได้แก่ สายรัดข้อเท้า ผ้ายืด หรือ เฝือกอ่อน เป็นต้น
  • การรับประทานยาต้านการอักเสบ ระยะสั้นๆ เพื่อลดอาการปวดบวมในระยะแรก
  • การประคบเย็นในช่วง 24 – 48 ชั่วโมงแรก
  • การยกเท้าสูง เพื่อลดอาการบวมในระยะแรก

ภาวะข้อเท้าแพลงใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวแตกต่างกัน ขึ้นกับระดับการบาดเจ็บของเส้นเอ็นข้อเท้า ตั้งแต่ระยะเวลาเป็นสัปดาห์ไปจนถึงเดือน การรักษาในระยะแรกถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีผลในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาในระยะยาวอันได้แก่ ภาวะข้อเท้าไม่มั่นคงเรื้อรัง หรือ ภาวะข้อเท้าเสื่อม เป็นต้น

การป้องกันข้อเท้าแพลง

การป้องกันข้อเท้าแพลงสามารถทำได้โดยการเลือกใส่รองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ การฝึกบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าให้มีความแข็งแรง รวมถึงการผึกบริหารการทรงตัว ซึ่งในแง่ของการบริหารนั้นจำเป็นต้องมีการฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ

นพ.ทศ หาญรุ่งโรจน์

ร.พ-ธนบุรี

Tel : 1645 กด 1 หรือ 02-487-2000
E-mail : th@thonburihospital.com
Website : http://thonburihospital.com/2015_new/
FB : https://www.facebook.com/thonburihospitalclub
IG : https://www.instagram.com/thonburi_hospital/

 

แชร์:

ใส่ความเห็น