สาระน่ารู้เกี่ยวกับโรงพยาลบาลธนบุรี : โรคตาแห้ง (DRY EYE)

สาระน่ารู้เกี่ยวกับโรงพยาลบาลธนบุรี : โรคตาแห้ง (DRY EYE)

โรคตาแห้ง

โรคตาแห้ง (DRY EYE)    คือ  การที่ปริมาณน้ำตาที่มาหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นให้กับดวงตาเคลือบกระจกตาดำไม่พอ พบในผู้ป่วยทุกเพศและทุกวัย แต่พบบ่อยมากในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน
โดยปกติน้ำตาถูกสร้างจากต่อมน้ำตา  2 กลุ่มได้แก่

  1. ต่อมน้ำตาที่เป็นเซลล์เล็กๆ   ซึ่งฝังตัวอยู่บริเวณเยื่อเมือกที่คลุมตาขาวและด้านในของเปลือกตา มีหน้าที่ผลิตน้ำตาออกมาหล่อลื่นตาตลอดทั้งวัน ในภาวะปกติเรียกว่า Basic Tear Secretion

2. ต่อมน้ำตาใหญ่  อยู่ใต้โพรงกระดูกเบ้าตาบริเวณหางคิ้ว มีหน้าที่ผลิตน้ำตาออกมาเฉพาะเวลาที่มีอารมณ์ต่างๆ เช่น    อาการเจ็บปวด ระคายเคืองตา ดีใจหรือเสียใจ เรียกว่า Reflex Tearing

สาเหตุ

สาเหตุของการเกิดตาแห้งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ผลการวิจัยพบว่ามีหลายปัจจัย ได้แก่
1. อายุ เมื่อสูงวัยร่างกายเราจะสร้างน้ำตาลดลง เพศหญิงจะมีโอกาศพบได้บ่อยกว่าเพศชาย โดยเฉพาะเพศหญิงวัยหลังหมดประจำเดือน เป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนที่ลดลงทำให้สารคัดหลั่งต่างๆในร่างกาย รวมทั้งน้ำตาก็ลดปริมาณลงไปด้วย
2. การทำงานของเปลือกตาบกพร่อง เช่นหลับตาไม่สนิท กระพริบตาน้อย เปลือกตาผิดรูป
3. ยาบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ เช่นยาลดน้ำมูก ยาแก้หวัด ยารักษาภูมิแพ้ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาโรคหัวใจ ยาคลายเครียด เป็นต้น
4. ใช้สายตา ติดต่อกันป็นเวลานานๆ  เช่น การทำงานหน้าจอ คอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ
5. สภาพแวดล้อม ที่มีฝุ่นละอองมาก มีหมอก มีควัน ลมพัดแรง มีแสงสว่างหรือแดดจ้า ห้องปรับอากาศที่มีอากาศแห้ง
6. คอนแทคเลนส์ การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่มีคุณภาพ การผ่าตัดกระจกตาหรือเปลี่ยนกระจกตา การอักเสบของกระจกตาจากเชื้อเริม นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเป็นอัมพฤกษ์ที่ใบหน้า
7. โรคบางชนิด ประกอบด้วย โรคเบาหวาน  กลุ่มอาการแพ้ยา ได้แก่ สตีเวน จอห์นสัน (Stevens-Johnson) ริดสีดวงตา และอาการผิวตาเสื่อมจากสารเคมี ได้แก่ กรด ด่าง รวมทั้งผื่นแพ้อย่างรุนแรง

อาการตาแห้ง

1. แสบตา เคืองตา ฝืดตา รู้สึกไม่สบายตาเหมือนมีเศษฝุ่นอยู่ในตา
2. เมื่อยตา เจ็บตา ขณะกะพริบตา รู้สึกหนักตา
3. ตาแดง น้ำตาไหลมาก การมองเห็นอาจลดลง หรือมองภาพไม่ชัดเท่าที่ควร
4. ถ้าไม่รีบทำการรักษาจนมีอาการเรื้อรัง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ การแพ้ หรือการอักเสบของดวงตาได้

การรักษาโรคตาแห้ง

มีหลายวิธีที่สามารถปฏิบัติเองได้ง่ายๆ จนถึงต้องพบจักษุแพทย์ วิธีการรักษามีดังนี
1. ลดการระเหยของน้ำตาให้น้อยลง เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดีคือ หลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับแดดและลมโดยสวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ไม่นั่งในที่ที่มีลมพัดหรือแอร์เป่าใส่หน้า
2. กระพริบตาถี่ๆ ในภาวะปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ20-22 ครั้ง ทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดน้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าขณะที่จ้องหรือเพ่งตาจะลืมค้างไว้นานกว่าปกติ ทำให้กระพริบตาได้เพียง8-10ครั้ง น้ำตาก็จะระเหยออกไปมากทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้น จึงควรพักสายตา โดยการหลับตา กระพริบตา หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอริยบท ประมาณ2-3นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง
3. สำหรับผู้ที่ตาแห้งมาก อาจใช้กรอบแว่นชนิดพิเศษที่มีแผ่นคลุมปิดกันลมด้านข้าง แว่นชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยครอบทั้งดวงตาและป้องกันลมด้วย หรือจะใช้แผ่นซิลิโคนชนิดพิเศษ ที่ใสบาง และนุ่ม นำมาตัดให้เข้ากับด้านข้างของกรอบแว่นตาคู่เดิม ซึ่งเรียกว่า Moist Chamber
4. ใช้น้ำตาเทียม เป็นยาหยอดตาที่ใช้เพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับผู้ที่ตาแห้ง น้ำตาเทียมมี 2 ชนิด การรักษาด้วยวิธีใช้น้ำตาเทียม เวลาในการหยอดตาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการตาแห้ง หากวันใดไม่ถูกลม แล้วรู้สึกสบายตาก็ไม่จำเป็นต้องหยอด แต่ถ้ารู้สึกเคืองตามาก ก็หยอดบ่อยๆได้ตามต้องการ

ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม

ผู้ป่วยที่ตาแห้งน้อย หยอดตาไม่เกินวันละ4-5 ครั้ง สามารถใช้ยาหยอดตาชนิดที่มีสารกันบูดได้ กรณีผู้ป่วยที่ตาแห้งมาก และหยอดตามากกว่าวันละ 6 ครั้ง จักษุแพทย์จะสั่งน้ำตาเทียมชนิดพิเศษที่ไม่มีสารกันบูด(Preservative-Free Tear) ให้ใช้แทน ซึ่งมีข้อจำกัด คือ ยาจะบรรจุในหลอดเล็ก เมื่อเปิดใช้แล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 16 ชั่วโมง หากใช้นานกว่านี้อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค

  1. การอุดรูระบายน้ำตา สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง จักษุแพทย์จะใช้วิธีอุดรูระบายน้ำตาเพื่อขังน้ำตาที่มีอยู่ให้หล่อเลี้ยงตาอยู่ได้นานๆไม่ปล่อยให้ไหลทิ้งไป เหมือนกับการสร้างเขื่อนกั้นเก็บกั้นเก็บกักน้ำไว้ใช้

วิธีและขั้นตอนในการอุดรูระบายน้ำตามี 2 วิธี คือ

การอุดแบบชั่วคราว และการอุดแบบถาวร สำหรับการอุดแบบชั่วคราว จักษุแพทย์จะสอดคอลลาเจนขนาดเล็กเข้าสู่ไปในรูท่อน้ำตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตาขึ้น โดยคอลลาเจนจะสลายไปเองภายใน 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่มีตาแห้งมาก จักษุแพทย์จะอุดรูระบายน้ำตาแบบถาวรให้ ทั้งนี้จะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ข้อควรปฏิบัติเพื่อการป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะตาแห้ง
  2. ควรพยายามกระพริบตาอย่างน้อย 10-15 ครั้ง/นาทีหากต้องใช้สายตานานๆ
  3. ผู้มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเช็คสุขภาพตา อย่างน้อยปีละครั้ง
  4. ใช้น้ำตาเทียม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นกับดวงตาและบรรเทาอาการตาแห้ง กรณีอาการตาแห้งไม่ดีขึ้นควรพลจักษุแพทย์โดยด่วน

1645 กด 1 หรือ 02-487-2000
th@thonburihospital.com
http://thonburihospital.com/2015_new/
https://www.facebook.com/thonburihospitalclub
https://www.instagram.com/thonburi_hospital/

 

แชร์:

บทความที่คุณอาจสนใจ

วิตามินอีและวิตามินซีเป็นวิตามินช่วยลดการอักเสบ
หลังจากทำศัลยกรรมมักเกิดอาการบวมและช้ำจากการอักเสบได้ บทความนี้จึงรวมวิธีลดบวม และอาหารเสริมลดการอักเสบมาแนะนำให้ได้รู้จักกัน
ซิงก์ (Zinc) หนึ่งในวิตามินที่สามารถบำรุงเส้นผม และสุขภาพคุณผู้ชายได้เป็นอย่างดี อยากรู้ว่าซิงก์นั้นมีประโยชน์ต่อผู้ชายอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
ผิวแห้งมากจนแสบคัน ต้องทำไงดีเพื่อฟื้นฟูไม่ให้ผิวดูแห้งกร้าน? เสริมด้วยคอลลาเจน ตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ตึงกระชับผิว ศึกษาต่อได้ในบทความนี้