กินส้มได้วิตามินสูง กินแครอตแล้วตาสวย ข้าวสาลีสุดยอดแหล่งใยอาหาร และกล้วยอุดมไปด้วยโพแทสเซียม
หากเราหันกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของอาหาร ในแง่โภชนาการอย่างถี่ถ้วน ความเชื่อเหล่านี้ที่ได้รับรู้มานั้น แท้จริงแล้วถูกหรือไม่ หรืออาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป
วันนี้ จะนำเสนอความเชื่อเรื่องอาหารที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดกัน ดังนี้
1.กล้วย กับ โพแทสเซียม
ความเชื่อ เรามักจะคิดว่า การกินกล้วย จะทำให้ร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากที่สุด
ความจริง คุณต้องกินกล้วยถึงวันละ 8 ผล จึงได้รับโพแทสเซียมปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO)แนะนำปริมาณโพแทสเซียมที่ควรได้รับในหนึ่งวัน คือ 3,510 มิลลิกรัม (กล้วย 1 ผล มีโพแทสเซียมประมาณ 422 มิลลิกรัม)
อาหารแนะนำ เราสามารถเลือกกินสคอวช (ฟักชนิดหนึ่ง คล้ายน้ำเต้า)และมันเทศแทนได้ สควอช 1 ถ้วย ให้โพแทสเซียมถึง 896 มิลลิกรัม และมันเทศ 1 หัว ให้โพแทสเซียม 694 มิลลิกรัม
2.ข้าวสาลีให้ใยอาหาร
ความเชื่อ ข้าวสาลีเป็นสุดยอดของอาหารที่มีใยอาหารมากที่สุด
ความจริง ข้าวสาลี 1 ถ้วยสามารถให้ใยอาหารได้แค่เพียง 14.4 กรัมเท่านั้น
อาหารแนะนำ การกินรำข้าวโพดเพียง 1 ถ้วยสามารถให้ใยอาหารได้มากถึง 60 กรัม และดีต่อระบบย่อยอาหารของเรา
3.แครอตบำรุงสายตา
ความเชื่อ การกินแครอตสามารถบำรุงสายตาได้ เพราะมีสารเบต้าแคโรทีน
ความจริง การกินแครอตเป็นประจำนั้นเป็นประโยชน์ต่อผิวของเรามากที่สุด เพราะมีสารเบต้าแคโรทีนสูง แต่ไม่ช่วยในการบำรุงสายตา เนื่องจากไม่มี สารลูทีน(Lutein)และซีซานทิน(Zeaxanthin) ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงสายตา
อาหารแนะนำ ใบชาเขียว ผักโขม และผักแคล(พืชตระกูลบรอกโคลีหรือคะน้า) มีสารลูทีนและซีซานทิน ในปริมาณสูง จึงช่วยบำรุงสายตาได้
4.ส้มกับวิตามินซี
ความเชื่อ ส้มมีปริมาณวิตามินซีสูง
ความจริง ส้มให้วิตามินซีเพียง 71 มิลลิกรัม ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
อาหารแนะนำ พริกหยวกสีแดงมีวิตามินซีถึง 172 มิลลิกรัม และพริกหยวกสีเหลืองมีวิตามินซีมากถึง 341 มิลลิกรัม นอกจากนี้พริกหยวกยังประกอบไปด้วยวิตามินเอ ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตาได้อีกต่างหาก
มีตัวเลือกหลากหลายขนาดนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องกินจำเจอีกต่อไปค่ะ
ขอบคุณที่มา : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 389