อาการอ่อนเพลียเรื้อรังหรืออาการปวดกล้ามเนื้อเหตุจากสมองและไขสันหลังอักเสบ (Chronic Fatigue Syndrome or Myalgic Encephalomyelitis) ที่เรียกย่อๆ ว่า CFS / ME หรือ อาการอ่อนเพลียหลังติดเชื้อไวรัส (Post-viral fatigue syndrome : PVFS) เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าที่ต่อเนื่องรุนแรง จนรบกวนชีวิตประจำวันเพราะอาการส่งผลกระทบต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งอาการอาจเกิดภายหลังจากการติดเชื้อหรือภายหลังร่างกายได้รับบาดเจ็บ เช่น ได้รับอุบัติเหตุหรือเข้ารับการผ่าตัด โดยอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้านี้จะไม่ดีขึ้นแม้ว่าจะพักผ่อนแล้ว ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยอาจพบได้บ้างในเด็กอายุ 13 ถึง 15 ปี ซึ่งแต่ละคนอาจมีระดับความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไป
😵 อาการของโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง
CFS / ME ทำให้เกิดความอ่อนเพลียเหนื่อยล้ามากอันแตกต่างจากความเหนื่อยล้าตามปกติทั่วไป อาการที่พบบ่อยได้แก่
📌 ความเมื่อยล้าที่กินเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
📌 ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ
📌 เจ็บต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอหรือรักแร้
📌 เจ็บคอและปวดหัว
📌 อาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่
📌 มีปัญหาในการนอนหลับ ตื่นขึ้นมายังรู้สึกเหนื่อยเหมือนไม่ได้พัก
📌 หลงลืม สับสน ไม่มีสมาธิ
📌 เวียนศีรษะ มีปัญหาในการทรงตัว
📌 ใจสั่น
📌 เหงื่อออก
📌 อาการลำไส้แปรปรวน เช่น ท้องผูก ท้องเสียและท้องอืด
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ และมักจะเกิดอาการเมื่อร่างกายได้รับความเครียดหรือเจ็บป่วย โดยอาการอาจเกิดภายหลังการเจ็บป่วยทันทีหรืออาจค่อยๆ เกิดอาการในภายหลังเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้
สาเหตุของการเกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
สาเหตุของ CFS / ME ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่ก็มีหลายทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายถึงสาเหตุ เช่น อาจจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรืออาจเกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมนในร่างกาย
การตรวจวินิจฉัยอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
เนื่องจากไม่มีการตรวจเฉพาะเจาะจงสำหรับ CFS / ME แพทย์จึงจะส่งตรวจปัสสาวะและเลือดเพื่อหาสาเหตุต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้ ดังนั้นแพทย์จะให้การวินิจฉัยอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เมื่อคุณมีอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือนโดยที่หาสาเหตุอื่นๆ ไม่พบ
การรักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
การรักษา CFS / ME มีหลากหลายวิธีที่ล้วนมุ่งหมายในการดูแลจัดการกับอาการที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน
การดูแลตนเอง (Self-help)
การมีปัญหาในการนอนหลับจะเป็นผลเสียต่อการฟื้นฟูร่างกายจากอาการ CFS / ME ดังนั้นคุณจึงควรปฏิบัติตัวให้เป็นสุขนิสัยในการเข้านอนตรงเวลาทุกคืน จัดการและลำดับกิจกรรมตนเองด้วยความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและความพึงพอใจ เพื่อให้แน่ใจว่าจะยังมีช่วงเวลาที่พักผ่อนเพียงพอ ระวังการรีบเร่งเพิ่มความหนักของกิจกรรมเร็วเกินไปจะทำให้อาการ CFS / ME กลับคืนมาอีก
อีกหนึ่งเทคนิคที่จะช่วยให้คุณสามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ การกำหนดช่วงกิจกรรมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการจัดเวลาการทำกิจกรรมในแต่ละวันของคุณให้เป็นระเบียบโดยมีช่วงเวลาการทำกิจกรรมสลับกับช่วงเวลาพักผ่อน เมื่อคุณวางแผนอย่างมีเป้าหมายด้วยการทำความเข้าใจในกำลังของตัวเองที่เหมาะสมกับชนิดของกิจกรรมที่ทำรวมถึงการเว้นช่วงเพื่อพักผ่อน คุณก็จะสามารถควบคุมการทำกิจกรรมของตนเองได้โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา การกำหนดช่วงกิจกรรมที่เหมาะสมได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยในการจัดการกับอาการอ่อยเพลียเรื้อรังได้ บางคนพบว่าการนวดและการยืดเหยียดจะช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้
การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุลเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้คุณได้รับพลังงานและสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการ บางคนมีอาการแพ้อาหารหรืออาการลำไส้แปรปรวนจากอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่าง รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟ การจดบันทึกอาหารที่รับประทานประจำวันจึงอาจเป็นประโยชน์ในการดูว่าอาหารชนิดใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว การหลีกเลี่ยงอาหารหวานและไขมันสูงก็เป็นสิ่งที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณไม่ค่อยมีกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก
💊 ยารักษาโรค
ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล อาจช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะและอาการปวดอื่น ๆ แพทย์อาจสั่งยาต้านภาวะซึมเศร้าเพื่อช่วยให้คุณนอนหลับและ/หรือเมื่อคุณมีอาการซึมเศร้า
การบำบัดด้วยการพูดคุย (Talking therapy)
การบำบัดปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioural therapy: CBT) เป็นการรักษาทางจิตวิทยาระยะสั้นที่มุ่งหมายให้คุณเผชิญและปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตนเอง เพื่อให้มีผลดีต่อการรักษาอาการ
กายภาพบำบัด (Physical therapy)
การออกกำลังกายเป็นขั้น ๆ (Graded exercise therapy: GET) หมายถึงการเริ่มต้นออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่คุณสามารถทำได้อย่างสะดวกสบาย เช่น การเดิน จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มระดับความหนักของกิจกรรมทุกๆ 2-3 วัน
การบำบัดผสมผสาน (Complementary therapy)
การใช้วิธีการบำบัดรักษาผสมผสานมีหลากหลายวิธี เช่น การทำให้ผ่อนคลาย การใช้สมุนไพร การใช้ธรรมชาติบำบัด (Homeopathy) และอาหารเสริมต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจพบว่ามีประโยชน์ แต่ก็ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่มากพอที่จะยืนยันประสิทธิผลที่แท้จริง
การอยู่กับอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสามารถช่วยให้คุณมีชีวิตอยู่กับอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้ โดยการปรับความสมดุลระหว่างกิจกรรมและการพักผ่อน ร่วมกับการรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือ
อาการอ่อนเพลียเรื้อรังสามารถส่งผลสำคัญต่อชีวิตของคุณในหลายแง่มุม รวมทั้งความสัมพันธ์กับคนที่คุณรักได้ คุณอาจจะหงุดหงิดผิดหวังเมื่อคนอื่นไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวคุณ เพราะร่างกายคุณอาจไม่ได้แสดงออกของอาการที่บ่งบอกการเจ็บป่วยให้ผู้อื่นเห็น ดังนั้นการได้พูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังเช่นเดียวกับคุณอาจช่วยให้คุณจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ปรึกษาแพทย์เพื่อที่คุณจะสามารถขอรายละเอียดในการติดต่อกลุ่มสนับสนุนดังกล่าว
ข้อมูลจาก : aetna