กูลโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine Sulfate) กับโรคข้อเสื่อม

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่หุ้มบริเวณผิวข้อ (Articular Cartilage) ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง พบว่ากระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อจากเดิมที่มีลักษณะจากผิวมัน เรียบ ขาวใส จะกลายเป็นสีเหลืองขุ่น จนทำให้กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อสูญเสียหน้าที่ในการดูดซับแรงกระแทกต่างๆ ที่ถูกกระทำต่อข้อเข่า เมื่อมีอาการมากขึ้นกระดูกอ่อนจะหลุดเป็นแผ่นๆ และมีรอยแตกเป็นริ้วๆ ขอบกระดูกเกิดการขรุขระ ประกอบกับเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายผลิตน้ำหล่อเลี้ยงข้อลดลง มีปุ่มกระดูกงอก (Osteophytes) ออกมาบริเวณข้อ ทำให้เกิดการเสียดสีของขอบกระดูกเมื่อมีการเคลื่อนไหว ในระยะที่รุนแรงจะพบว่ามีเศษกระดูกอ่อนหลุดเข้าไปในน้ำหล่อเลี้ยงข้อ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกกกระตุ้นและหลั่งสารก่ออักเสบ ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม และปวดข้อเข่ามากขึ้น

กระดูกอ่อนผิวข้อที่สูญเสียหน้าที่ในการต้านทานแรงกดที่กระทำต่อข้อเข่า ช่องว่างระหว่างข้อเข่าแคบลง ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่า ข้อเข่าฝืด หากกระบวนการนี้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ทำให้การเคลื่อนไหวลำบากมากขึ้น ข้อผิดรูป และเกิดภาวะทุพพลภาพในที่สุด ดังนั้นหากเป็นในระยะเริ่มต้นจึงควรให้ความสำคัญในการดูแลข้อเข่าเพื่อชะลอการดำเนินไปของโรคข้อเข่าเสื่อม

ปัจจัยเสี่ยง

  1. อายุ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุด เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ จะเสื่อมลงตามวัย อัตราการซ่อมแซมลดลงในกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อที่มีการสึกกร่อน
  2. เพศ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า โดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนเนื่องจากการระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้โครงสร้างกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อบางลง
  3. โรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ(Inflammatory Joint Disease) ที่ทำให้เกิดการทำลายโครงสร้างของกระดูกอ่อน ได้แก่ โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  4. ความอ้วน หรือ การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 23 จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเข่าเป็นข้อที่รองรับน้ำหนัก
  5. การรับแรงกระทำที่ข้อเข่า เช่น การใช้งานมากเกินไป การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อ การเล่นกีฬาและการออกกำลังที่มีการกระแทกที่รุนแรงและซ้ำที่ข้อต่อ

 

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. อาการปวด มีลักษณะปวดตื้อๆ บริเวณข้อ อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน หรือลงน้ำหนักลงบนข้อนั้นๆ และจะทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน
  2. ข้อฝืด (Stiffness) พบได้บ่อย มักจะมีอาการข้อฝืดข้อติดขัดในช่วงเช้าและช่วงหลังจากการพักข้อนานๆ เช่น หลังจากตื่นนอนหรือนั่งนานๆ แต่มักไม่เกิน 30 นาที
  3. ข้อบวม แดง ร้อน เป็นผลจากน้ำในข้อเข่าที่มีมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นและหลั่งสารก่ออักเสบ
  4. ข้อผิดรูป (Swelling and Deformity) เป็นลักษณะข้อเข่าโก่ง (Bow Legs) สูญเสียการเคลื่อนไหวและข้อเข่าเหยียดหรืองอไม่สุด
  5. เวลาเดินหรือเคลื่อนไหว อาจมีเสียงดังกรอบแกรบ (Crepitus)

 

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. การออกกำลังและการบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า การออกกำลังกายเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ช่วยลดอาการปวด เพิ่มความสามารถในการใช้งาน
  2. การลดน้ำหนัก ช่วยลดการรองรับน้ำหนัก สามารถช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยให้ใช้งานข้อเข่าได้ดีขึ้น
  3. การรับประทาน กลูโคซามีน ซัลเฟต (Glucosamine Sulfate) ช่วยฟื้นฟูกระดูกอ่อนผิวข้อ เพื่อชะลอหรือลดการดำเนินไปของโรคข้อเสื่อมได้

กลูโคซามีน ซัลเฟต เป็นสารประกอบประเภทน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide) ที่ร่างกายสามารถสร้างได้เอง แต่จะสร้างลดลงเมื่ออายุมากขึ้น Glucosamine ถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างโปรตีโอไกลแคน (Proteoglycan) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างกระดูกอ่อน โดย Proteoglycan เป็นสารโมเลกุลใหญ่ที่มีความสามารถในการดึงน้ำเข้าหาตัวเองได้ดี จึงทำให้กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อได้

กลูโคซามีน ซัลเฟต จะทำหน้าที่กระตุ้นการสร้าง Proteoglycan, ยับยั้งการสลายของ Proteoglycan และกระตุ้นการฟื้นฟูของกระดูกอ่อน (Cartilage) ที่ถูกทำลายไป จึงสามารถช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ สำหรับการรับประทานกูลโคซามีน ซัลเฟต แนะนำให้รับประทานวันละ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน และควรรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 6 สัปดาห์

 

เอกสารอ้างอิง

1.สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาข้อเข่าเสื่อม. 2553.

2.ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิติกส์แห่งประเทศไทย. แนวปฎิบัติบริการสาธารณสุข โรคข้อเข่าเสื่อม. 2554.

3.ฉัตรสุดา กานกายันต์, อภิรดี เจริญนุกูล และวิทยา วาโย. การชะลอการเกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://he02.tci-thaijo.org (สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2565).

4.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์. ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกลูโคซามีนในโรคข้อเสื่อม. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/41/กลูโคซามีน-glucosamine-ในโรคข้อเสื่อม-ไขข้อข้องใจ (สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2565).

5.วิมล ศรีสุข. กลูโคซามีนซัลเฟตกับโรคข้อเสื่อม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/3/กลูโคซามีนซัลเฟต-glucosamine-sulphate-โรคข้อเสื่อม-osteoarthristis (สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2565).

6.Arun Pal Singh. Articular Cartilage Structure and Function. from: https://boneandspine.com/articular-cartilage/ (Retrieved August 9,2022).

แชร์:

บทความที่คุณอาจสนใจ

วิตามินอีและวิตามินซีเป็นวิตามินช่วยลดการอักเสบ
หลังจากทำศัลยกรรมมักเกิดอาการบวมและช้ำจากการอักเสบได้ บทความนี้จึงรวมวิธีลดบวม และอาหารเสริมลดการอักเสบมาแนะนำให้ได้รู้จักกัน
ซิงก์ (Zinc) หนึ่งในวิตามินที่สามารถบำรุงเส้นผม และสุขภาพคุณผู้ชายได้เป็นอย่างดี อยากรู้ว่าซิงก์นั้นมีประโยชน์ต่อผู้ชายอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
ผิวแห้งมากจนแสบคัน ต้องทำไงดีเพื่อฟื้นฟูไม่ให้ผิวดูแห้งกร้าน? เสริมด้วยคอลลาเจน ตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ตึงกระชับผิว ศึกษาต่อได้ในบทความนี้