สุขภาพกระดูกและข้อ
กระดูกและข้อจัดเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกายโดยมีหน้าที่หลักคือ การเป็นโครงสร้างของร่างกาย เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ ป้องกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะภายใน ช่วยในการเคลื่อนไหวและหายใจ เป็นต้น ดังนั้นการดูแลสุขภภาพกระดูกด้วยการเสริมพวกแคลเซียม การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
สารอาหารเพื่อสุขภาพกระดูกและข้อ
1. แคลเซียม
กลไกการทำงาน
แคลเซียมจัดเป็นแร่ธาตุที่พบมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ ซึ่งจำเป็นต่อพัฒนาการของกระดูกและฟันที่แข็งแรง แหล่งอาหารที่พบแคลเซียมได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้งตัวเล็ก ผักใบเขียวทุกชนิด ยอดแค ยอดสะเดา นมและผลิตภัณฑ์จากนม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และพืชตระกูลถั่ว
รูปแบบของแคลเซียม
รูปแบบของแคลเซียมมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ที่พบบ่อยได้แก่ แคลเซียม คาร์บอเนต, แคลเซียม ซิเตรต, และแคลเซียม กลูโคเนต ซึ่งแคลเซียมในแต่ละรูปแบบมีข้อดีและวิธีการใช้ที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
1. แคลเซียม คาร์บอเนต: ต้องอาศัยกรดในกระเพาะอาหารเป็นตัวช่วยในการแตกตัว เพราะฉะนั้นแนะนำให้รับประทานหลังทานอาหาร ข้อดีของรูปแบบนี้คือ ให้ปริมาณของแร่ธาตุแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
2. แคลเซียม ซิเตรต: รับประทานได้ทุกช่วงเวลา เพราะไม่ต้องอาศัยกรดในกระเพาะอาหารเป็นตัวช่วยในการแตกตัว แต่ข้อเสียคือ ให้ปริมาณแร่ธาตุแคลเซียมในปริมาณที่ต่ำ
3. แคลเซียม กลูโคเนต : เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในเครื่องดื่มชนิดชง เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ละลายน้ำได้ค่อนข้างดี รวมถึงมีรสชาติที่ดีเหมาะสำหรับการทำเครื่องดื่ม
เพื่อกระดูกและฟันที่แข็งแรงมากขึ้นควรรับประทานแคลเซียมและสารอาหารชนิดอื่นร่วมกัน
แมกนีเซียม : ทำงานร่วมกับแคลเซียมเพื่อกระบวนการสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง
วิตามินเค : จำเป็นต่อการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือด และสำคัญต่อกระบวนการผลิตโปรตีนบางชนิดที่จำเป็น ต่อความแข็งแรงของกระดูกและฟัน รวมทั้งลดการสลายตัวของแคลเซียม
ไลซีน : เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียม
วิตามินดี : เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียม
วิตามินซี : เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียม
2. น้ำมันปลา
เมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพกระดูกและข้อแน่นอนว่า แคลเซียมจัดเป็นสารอาหารอันดับหนึ่งที่คิดถึง แต่อย่างไรก็ตามแคลเซียมเป็นสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและแข็งแรงของกระดูกและฟัน แต่หากพูดถึงเรื่องของอาการปวดข้ออักเสบแล้ว น้ำมันปลาจัดเป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดที่ช่วยบรรเทาอาการได้
กลไกการทำงาน
สารอาหารที่สำคัญในน้ำมันปลาคือ กรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งมีกรดไขมันหลักๆ อยู่สองตัว คือ EPA (Eicosapentaenoic Acid) และ DHA(Docosahexaenoic Acid) ซึ่งจากการศึกษาพบว่า EPA มีคุณสมบัติในการลดอาการอักเสบ ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเสื่อม และข้ออักเสบรูมาตอยด์ เนื่องจาก EPA สามารถลดสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบ ปวด บวม นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มการสร้างสาร Prostaglandin E3(PGE3) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติทำให้อาการอักเสบต่างๆ ของข้อลดลงได้
3. กระดูกอ่อนปลาฉลาม
กลไกการทำงาน
กระดูกอ่อนปลาฉลามมีผลในการบรรเทาหรือรักษาโรคข้อเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจากองค์ประกอบหลักที่อยู่ในกระดูกอ่อนปลาฉลามคือ สารในกลุ่มไกลโคสอะมิโนไกลแคน (Glycosaminoglycans) ซึ่ง 80% เป็นสาร คอนดรอยติน (Chondroitin) ที่เป็นสารอาหารหลักสำหรับบรรเทาอาการของข้อเสื่อม
คอนดรอยติน(Chondroitin) บรรเทาอาการข้อเสื่อมโดยทำหน้าที่:
– ยับยั้งเอนไซม์ Collagenase ที่เข้ามาทำลายคอลลาเจนบริเวณกระดูกอ่อน
– ลดการสร้างสารบางชนิดที่เข้าทำลาย Cartilage Matrix
– เพิ่มความสามารถในการดึงน้ำหล่อลื่นเข้าสู่ระหว่างข้อมากขึ้น
– เพิ่มปริมาณการสังเคราะห์ Proteoglycans และกรดไฮยาลูโลนิกมากขึ้น
– ลดการเสียดสีระหว่างข้อต่อ ส่งผลให้ลดการอักเสบ ปวดและบวมได้
4. โบรอน
โบรอน เป็นแร่ธาตุธรรมชาติ ซึ่งการได้รับโบรอนในปริมาณที่เพียงพอหรือไม่นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและแหล่งน้ำบริเวณนั้น
กลไกการทำงาน
– โบรอน มีผลต่อความหนาแน่น และความแข็งแรงของกระดูก
– โบรอน ช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ซึ่งส่งผลต่อกระดูกที่แข็งแรง
– โบรอน ช่วยลดปริมาณการสลายแคลเซียมและแมกนีเซียม
– โบรอน รักษาสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อกระบวนการสร้างกระดูกที่แข็งแรง