โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัยและพบมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก หากรุนแรงอาจทำให้ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นการสลายกระดูกจะมากกว่าการสร้างกระดูก แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็ควรเสริมความแข็งแรงให้กับกระดูกอยู่เสมอ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจะช่วยป้องกันการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้ วันนี้วิสทร้านำสาระดีๆเกี่ยวกับ “โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม” มาฝาก ตามไปดูกันเลยค่ะ…
โรคกระดูกพรุน คืออะไร?
โรคกระดูกพรุน หรือ Osteoporosis คือ โรคกระดูกชนิดหนึ่งที่กระดูกเริ่มเสื่อมและบางลงเนื่องจากการสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูกจะทำให้กระดูกแตกหรือหักง่ายกว่าปกติ พบได้บ่อยบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก หรือข้อมือ มีค่ามวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามวลกระดูกมาตรฐานตั้งแต่ -2.5 เอสดีขึ้นไป ซึ่งถ้าปล่อยไว้โดยไม่รักษาจะทำให้เสียมวลกระดูกเพิ่มขึ้นและทำให้อาการของโรคกระดูกพรุนอาจลุกลามรุนแรงได้
โดยปกติการสร้างกระดูกจะใช้เวลา 4 เดือน และการสลายกระดูกใช้เวลา 4 สัปดาห์ กระบวนการสร้างและการสลายกระดูกจะเกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างสมดุล จนกระทั่งอายุ 30 ปี กระบวนการสร้างกระดูกจะเริ่มมีการสูญเสียมากกว่าการสร้างเล็กน้อย ทำให้มวลกระดูกลดลงเรื่อยๆ หากเราไม่มีการเพิ่มความหนาแน่นให้กับกระดูก อาจจะเกิดปัญหาโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ตามมาได้
ผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนพบได้ประมาณ 0.83% ของโรคที่ไม่ติดต่อทั้งหมดทั่วโลกในกลุ่มคนที่อายุเกิน 50 ปี ผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 3 คน และผู้ชายอย่างน้อย 1 ใน 5 คน เคยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โดยประมาณการว่าทั่วโลกมีผู้หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนประมาณ 200 ล้านราย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ที่มีอายุตั้งแต่ 60-90 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูงตั้งแต่ 10-60% ตามอายุที่มากขึ้น โดยบริเวณที่หักมากที่สุดคือ กระดูกปลายแขน 80%, กระดูกต้นแขน 75%, กระดูกสะโพก 70% และกระดูกสันหลัง 58% ซึ่งการหักของกระดูกเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เราจึงควรดูแลร่างกายโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยในการเกิดโรคกระดูกพรุน และเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน มีหลายปัจจัยโดยเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทั้งหญิงและชาย เซลล์สร้างกระดูกจะมีจำนวนลดลงจนเซลล์สร้างกระดูกทำงานน้อยลง แต่เซลล์สลายกระดูกเพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น จึงทำให้กระดูกบางและพรุนในที่สุด
- หญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนฮอร์โมนเอสโตรเจน(ฮอร์โมนเพศหญิงที่มีผลต่อกระบวนการสร้างกระดูก) ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานน้อยลง แต่เซลล์สลายกระดูกเพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น ผลลัพธ์คือทำให้มวลกระดูกลดลง การขาดฮอร์โมนดังกล่าวมีผลทั้งเพศหญิงและเพศชาย และจะส่งผลกระทบมากที่สุดกับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ส่วนในผู้ชายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศหรือตรวจพบระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเลือดต่ำ ก็พบว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนด้วยเช่นกัน
- การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย ถ้าร่างกายขาดแคลเซียมจากการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อยหรือจากการที่ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง ปริมาณแคลเซียมที่จะนำไปเสริมสร้างกระดูกก็จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสลายกระดูก)ก็จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการสลายกระดูกมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดภาวะกระดูกบางจนกระทั่งเกิดโรคกระดูกพรุนในที่สุด
- การใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ (มีผลลดการสร้างกระดูกใหม่ ลดการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ และเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย) ยากันชักบางชนิด (เช่น Barbiturates, Carbamazepine, Phenytoin มีผลทำให้เกิดภาวะพร่องวิตามินดี ลดการดูดซึมของแคลเซียม และการทำงานของฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพิ่มขึ้น), หากจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะการใช้ยาเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้
- การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ชา กาแฟเป็นประจำ การสูบบุหรี่ เป็นตัวร้ายที่ทำให้แคลเซียมสลายออกจากกระดูก ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดของเพศหญิงต่ำกว่าปกติ และการดื่มสุรา ชา กาแฟ คาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็ก เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายขาดแคลเซียมส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้
- ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) และลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก (Osteoblast) แต่ถ้าขาดการออกกำลังกาย ไม่ขยับร่างกายหรือขยับร่างกายน้อย เซลล์สลายกระดูก(Osteoblast ก็เพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น ส่งผลให้กระดูกางและเกิดภาวะกระดูกพรุนได้เช่นกัน
อาการของโรคกระดูกพรุน และอันตรายจากการเกิดกระดูกหัก
อาการของโรคกระดูกพรุนในช่วงแรกร่างกายจะยังไม่แสดงอาการ ต่อมาอาจมีอาการหลังค่อมรู้สึกปวดที่กระดูกโดยปวดลึกๆที่กระดูก เช่น ที่กระดูกหลังขา กระดูกจะหักง่ายเมื่อล้ม โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่ถึงแม้จะไม่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมาก ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในการเกิดโรคกระดูกพรุน คือ
- กระดูกหักได้ง่าย การหักของกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลัง อาจทำให้เกิดความพิการ เดินไม่ได้ เคลื่อนไหวได้ลดลง ช่วยเหลือตัวเองลำบาก
- มีอาการหลังโก่งหลังค่อม(มีผลทางอ้อมหลายอย่าง เช่น ทำให้ทรวงอกคับแคบ หายใจไม่สะดวก, ถ้าเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ก็อาจลามไปเป็นโรคปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น เป็นต้น)
- ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบางรายอาจมีอาการฟันหลุดได้ง่าย หรือมีความเสี่ยงต่อการมีกระดูกหักได้ง่ายแม้จะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงหรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น กระดูกหักจากการเปลี่ยนท่ายืนหรือนั่ง, กระดูกหักขณะก้มหยิบของหรือยกของหนัก, กระดูกซี่โครงหักเพียงแค่ไอหรือจาม, กระดูกข้อมือหักจากการใช้มือยันตัวเอาไว้จากการลื่นหรือหกล้ม, กระดูกสะโพกหักจากก้นกระแทกกับพื้น เป็นต้น
เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง..ด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ
การรับประทานอาหารเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ง่ายในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง นอกเหนือจากการรับประทานแคลเซียมให้เหมาะสมตามวัยแล้ว วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆก็มีความสำคัญในการเป็นตัวช่วยเสริมการทำงานของแคลเซียม โดยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง มีหลากหลายชนิด ได้แก่
- วิตามินเค2-7 หรือ มีนาควิโนน-7 (Menaquinone-7) เป็นตัวช่วยที่สำคัญอย่างมากในการกระตุ้นเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) ให้ผลิตโปรตีนที่มีชื่อว่า Osteocalcin ซึ่งทำหน้าที่ในการจับแคลเซียมเข้าไปเติมเต็มในโพรงกระดูก เสริมความแข็งแรงและความหนาแน่นให้มวลกระดูก และที่มากกว่านั้นวิตามินเค2-7 ยังช่วยในการยับยั้งเซลล์สลายกระดูก (Osteoblast) ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
- โบรอน ช่วยลดปริมาณการขับออกของแคลเซียม แมกนีเซียม รักษาสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจน และช่วยเพิ่มความหนาแน่นและความแข็งแรงต่อกระดูก
- แมกนีเซียม แร่ธาตุที่ทำงานร่วมกับแคลเซียมในกระบวนการสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง มีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมและวิตามินดี รวมถึงสมดุลของฮอร์โมนบางชนิด เช่น พาราไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสลายกระดูก
- วิตามินดี3 ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม
- ซิงค์และคอปเปอร์ เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นในการกระบวนการสร้างคอลลาเจนซึ่งมีผลต่อความแข็งแรงของกระดูก และช่วยเพิ่มความหนาแน่นกระดูก
- วิตามินบี 6, บี 12 และกรดโฟลิก เป็นวิตามินที่ช่วยควบคุมระดับโฮโมซีสเตอีนให้อยู่ในระดับปกติ การมีระดับโฮโมซีสเตอีนที่สูงพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน..เป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม เพราะส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เราควรรักษาสุขภาพด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพเพราะมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นครบถ้วน เพราะชีวิตดีเริ่มต้นที่สุขภาพ ด้วยความปรารถนาดีจาก Vistra_Calplex Calcium 600 & Menaquinone-7 plus
Literature Cited:
- นพ.วิรชัช สนั่นศิลป์. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. โรคกระดูกพรุน: ถาม-ตรวจ-รักษา-ป้องกันได้., สถานการณ์โรคกระดูกพรุน ปี 2555: หักครั้งเดียวก็เกินพอ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : bangkokhealth.com. [5 ก.ย. 2020].
- คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โรคกระดูกพรุน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pharm.chula.ac.th. [5 ก.ย 2020].
- ภก.ผศ.ต่อศักดิ์ อินทรไพโรจน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pharm.su.ac.th. [9 ก.ย. 2020].
- สุภาพ อารีเอื้อ (2001). ภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ:ทำไมต้องรอจนกระดูกหัก. Rama Nurs J. 2001, 208-218.
- ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 317 คอลัมน์ : เรื่องน่ารู้. กินอย่างไรเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : doctor.or.th. [11 ก.ย. 2020].
- William Morrison. (2019). What Do You Want to Know About Osteoporosis?. [Online]. https://www.healthline.com/health/osteoporosis. [11 Sep 2020].