โรคกระดูกพรุน
ปัจจุบันโรคกระดูกพรุนได้รับความสนใจและมีการตื่นตัวเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนเป็นอย่างมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งตอนนี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ถึงกับกำหนดให้โรคกระดูกพรุนมีความสำคัญเป็นอันดับสอง รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเลยที่เดียว ซึ่งวันนี้ 108health ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนมาฝากเรามาทำความรู้จักกับโรคกระดูกพรุนและวิธีป้องกันกระดูกพรุนกันดีกว่าครับ
โรคกระดูกพรุนคืออะไร?
โรคกระดูกพรุน คือโรคที่ผู้ป่วยมีมวลกระดูกต่ำกว่าปกติและมีแนวโน้มว่าจะต่ำลงเรื่อยๆ จนอาจเป็นสาเหตให้เกิดการกระดูกหักจากการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อยและยังทำให้การเชื่อมต่อของกระดูกหลักจากเกิดการแตกหักต้องใช้เวลานานมากกว่าปกติหรืออาจไม่ติดเลยก็ได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องใส่เฝือกในการรักษากระดูกที่แตกหักนานยิ่งขึ้นมีผลให้มีอาการแทรกซ้อนต่างๆเช่น ข้อยึดติดจนไม่สามารถใช้อวัยวะในส่วนนั้นได้อย่างสมบูรณ์ และบางรายอาจต้องใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดยึดกระดูกซึ่งผลการรักษามักจะไม่ได้ผลดีสักเท่าไหร่นัก
แม้ว่าโรคกระดูกพรุนจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตก็ตาม แต่โรคกระดูกพรุนก็เป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆอีกมากมายซึ่งเกิดจากการที่ต้องรักษาอาการกระดูกหักนานๆหรือการที่ไม่สามารถใช้งานอวัยวะต่างๆได้อย่างเต็มทีอันเนื่องมาจากภาวะกระดูกหัก เช่น ภาวะถุงลมโป่งพอง ภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาการเหล่านี้มีผลให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอลงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สู้กระดูกพรุนด้วย 3 วิธี
อาการหลักของโรคกระดูกพรุนนั้นคือ อาการปวดหลังในผู้สูงอายุ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการกระดูกพรุนแต่อายุยังไม่ถึง 45 ปีนั้น แม่จะเริ่มมีอาการกระดูกพรุนแล้วก็ตามแต่ก็จะยังไม่แสดงอาการใดๆเลย ดังนั้นเราก็จะไม่สามารถทราบได้ว่าเราเริ่มมีอาการกระดูกพรุนหรือไม่และนั่นทำให้เราควรจะป้องกันอาการกระดูกพรุนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆซึ่งมีวิธีปฎิบัติดังนี้
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศและวัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงกล้ามเนื้อและกระดูกได้รับการใช้งาน รวมไปถึงเป็นการลดน้ำหนักไปในตัว เพื่อที่กระดูกจะได้ไม่ต้องรับน้ำหนักที่มากจนเกินไปและทำให้เกิดภาวะกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม เพราะเมื่อถึงวันที่เราเป็นโรคกระดูกพรุนเข้าจริงๆแล้ว ต่อให้ทานแคลเซียมอย่างไร ก็ไม่สามารถรักษาอาการกระดูกพรุนได้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ทานแคลเซียมตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อสะสมแคลเซียมไว้ให้กระดูกจะดีที่สุดครับ
- ตรวจมวลกระดูกประจำทุกปี เพื่อให้เราทราบถึงสภาพกระดูกของเรา โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมในการตรวจหาโรคกระดูกพรุนด้วยเครื่องตรวจมวลกระดูก (Bone Densitometer) ซึ่งเป็นวิธีตรวจสอบสภาพกระดูกของเราได้ดีที่สุด
เพราะโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน ผู้ป่วยหลายท่านกว่าจะทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อกระดูกนั้นพรุนไปแล้ว วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงเป็นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ หมั่นรักษาสุขภาพ ตรวจร่างกายและตรวจสภาพกระดูกอย่างเป็นประจำ และที่สำคัญ อย่าลืมเติมแคลเซียมให้ร่างกายและกระดูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสภาพกระดูกที่แข็งแรงจนถึงวัยสูงอายุที่จะปราศจากโรคปวดหลังหรือจุดต่างๆอันเนื่องมาจาก กระดูกพรุน