การออกกำลังสมองคือ?
การทำกิจกรรมใดๆ ซึ่งมีผลกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนประสาทสัมผัส ส่วนความจำและส่วนที่เกี่ยวข้องกับทักษะชั้นสูง (Cognitive)
สมองทำงานอย่างไร
สมองมีหน้าที่รับรู้ ประมวลผล จัดระบบการกระจายข้อมูลไปเก็บไว้ในส่วนต่างๆเพื่อการนำไปใช้ในอนาคตสมองส่วนนี้เรียกว่า “ฮิปโปแคมปัส (hippocampus)” จะทำหน้าที่จัดเก็บความทรงจำจากประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งผ่านมาทางประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ
** สิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่แปลกใหม่สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองได้มากกว่า เพราะขณะที่เรากำลังเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ เซลล์ประสาทจะถูกกระตุ้นให้เจริญแตกแขนง
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมอง
เมื่อทารกอยู่ในครรภ์เซลล์ประสาทในสมองจะสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงแต่ละเซลล์ ด้วยอัตราเร็วประมาณ 15 ล้านเครือข่ายต่อชั่วโมง เมื่อทารกคลอดออกมาเซลล์ประสาทมากกว่า 1 พันล้านเซลล์จะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และเมื่ออายุครบ 5 ขวบ สมองจะถูกสร้างครบสมบูรณ์ในอดีตเชื่อว่าเซลล์ประสาทจะไม่มีการสร้างขึ้นใหม่แต่จะตายไปและลดจำนวนลงภายหลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่หรือวัยสูงอายุ แต่ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง และมนุษย์พบว่าเซลล์ประสาทในสมองนั้นจะมีจำนวนคงที่แม้อายุจะมากขึ้นและยังสามารถเจริญแตกแขนงเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะสมองเสื่อมนั้นได้แก่ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมสุขภาพซึ่งจากการศึกษาพบว่าสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่แปลกใหม่สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองได้มากกว่า ในขณะที่ผู้มีพฤติกรรมที่กระฉับกระเฉงจะมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมน้อยกว่าโดยขณะที่เรากำลังเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่เซลล์ประสาทจะสร้างสารชื่อว่า “นิวโรโทรฟิน” ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เซลล์ประสาทเจริญแตกแขนง
หลักของการออกกำลังสมอง
- การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน
- สัมพันธ์ประสาทสัมผัสทั้งห้า
- ท้าทายประสบการณ์ใหม่
ตัวอย่างเช่น
- เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน
– เปลี่ยนแปลงขั้นตอนปฏิบัติ เช่น รับประทานอาหารหลังอาบน้ำ ชมสวน รดน้ำต้นไม้หลังตื่นนอน
– เพิ่มเติมกิจวัตรใหม่ๆ เช่น ออกไปวิ่งตอนเช้า ปรุงอาหารเช้าด้วยตนเอง
– เปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติ เช่น ใช้งานมือข้างที่ไม่ถนัด ลองแปรงฟัน หรือกดรีโมท ฟังรายการวิทยุใหม่ๆ - สัมพันธ์ประสาทสัมผัสทั้งห้า
– งดใช้ประสาทสัมผัสที่ใช้บ่อย เช่น ใช้มือคลำของแทนการมองหา สื่อสารกันด้วยท่าทางแทนคำพูด
– ผสมผสานประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น ดมกลิ่นของดอกไม้ขณะเพลิดเลินกับการฟังเพลงลิ้มรสชาติไปพร้อมกับกลิ่นหอมของอาหาร
– กระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น การบำบัดด้วยกลิ่น การเล่นเกมฝึกสมอง เช่น การเล่นไพ่ การเล่นหมากกระดาน - ท้าทายประสบการณ์ใหม่
– เดินทางท่องเที่ยว เช่น เดินทางทัศนศึกษา พักค้างแรม
– ทำงานอดิเรกใหม่ๆ เช่น เล่นกีฬาที่เหมาะกับวัย ทำงานฝีมือ เย็บปักถักร้อยหรือเดินเลือกซื้อของ
– พบปะสังสรรค์ เช่น เข้าร่วมกิจกรรมในครอบครัวเข้าเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ หรือ เป็นที่ปรึกษาในหน่วยงานที่ท่านเชี่ยวชาญ
วิธีการออกกำลังกายสมอง ไม่ได้จำกัดแค่ที่กล่าวมาแต่ทุกกิจกรรมที่ปฏิบัติแล้วทำให้ท่านได้ใช้ประสาท สัมผัสทั้งห้า ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการออกกำลังกายสมองทั้งสิ้น โดยนอกจากจะยึดตามหลักของการออกกำลังกายสมองแล้วก็ควรให้เหมาะสมตามวัย สะดวกและชื่นชอบที่จะปฏิบัติด้วย
ที่มา : โรงพยาบาลเสรีรักษ์