วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารุ่นใหม่โดยผู้ผลิตวัคซีนในเอเชีย
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมกับ ไบโอเนท-เอเชีย และ Liaoning Cheng Da Biotechnology ประกาศความร่วมมือในการแบ่งบรรจุวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารุ่นใหม่ในประเทศไทย
กรุงเทพฯ – บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด จัดพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือในการแบ่งบรรจุวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ระหว่างสถานเสาวภา สภากาชาดไทย บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และบริษัท Liaoning Cheng Da Biotechnology จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการลงนามในครั้งนี้ถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทยและจีนในการพัฒนาและผลิตวัคซีน
เนื่องด้วยปัญหาของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาสำคัญต่อสาธารณสุขไทย จึงนำมาซึ่งความต้องการของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีความบริสุทธิ์สูงชนิด highly purified cell-culture ขึ้นในประเทศ ตลอดระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีน ได้ส่งผลให้โครงการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ถูกพัฒนาเข้าสู่กระบวนการ การแบ่งบรรจุวัคซีน ณ สถาน เสาวภา สภากาชาดไทย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์วิศิษฐ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า “ทางสถานเสาวภา สภากาชาดไทยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และบริษัท Liaoning Cheng Da Biotechnology จำกัด ในโครงการการแบ่งบรรจุวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อันจะเป็นประโยชน์แก่คนไทยในการเข้าถึงวัคซีนที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โดยความร่วมมือครั้งนี้ ทางสถานเสาวภา สภากาชาดไทยจะทำหน้าที่ในการแบ่งบรรจุวัคซีนป้องโรคพิษสุนัขบ้าคุณภาพสูงในห้องปฏิบัติการของสถานเสาวภาฯ และจำหน่ายวัคซีนนี้ควบคู่ไปกับสารอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ทางสถานเสาวภาฯ ผลิตอยู่แล้วในปัจจุบัน”
มร. ลี หนิง ผู้อำนวยการ บริษัท Liaoning Cheng Da Biotechnology จำกัด กล่าวเสริมว่า “บริษัทฯ รู้สึกภาคภูมิใจที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ได้ให้ความไว้วางใจบริษัทฯ สำหรับความร่วมมือในโครงการการแบ่งบรรจุวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านี้ โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและโรคไข้สมองอักเสบของทางบริษัทฯ นั้น ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีคอลัมน์โครมาโตกราฟีในกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ (chromatographically purified cell-culture technology) ทำให้ได้รับวัคซีนที่มีความบริสุทธิ์ที่สูง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย เราจึงมั่นใจว่าความร่วมมือในการผลิตครั้งนี้จะช่วยนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรมวัคซีนในประเทศไทยให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป”
นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวปิดท้ายว่า “ไบโอเนท-เอเชีย ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือทั้งในด้านการวิจัย พัฒนาและการผลิตวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ในแถบภูมิภาคเอเชีย ทางบริษัทฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กับทางสถานเสาวภา สภากาชาดไทย และบริษัท Liaoning Cheng Da Biotechnology จำกัด โดยทั้งสองสถาบันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์ (cell-culture) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากผลรายงานการวิจัยทางคลินิกจากวัคซีนป้องโรคพิษสุนัขบ้าของ Liaoning Cheng Da Biotechnology นำมาซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดใหม่ขึ้นในประเทศไทยโดยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเดียวกัน”
เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนซึ่งพบได้มากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และถือว่าเป็นโรคที่ป้องกันได้ 100% ในแต่ละปีมีผู้ป่วยประมาณ 60,000 รายเสียชีวิตลงด้วยโรคนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กโดย 4 ใน 10 รายที่เสียชีวิตเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี นอกจากนี้ กว่า 3,000 ล้านคนในทวีปเอเชีย และแอฟริกาที่อาศัยอยู่ในชนบท ซึ่งยากแก่การเข้าถึงของวัคซีนและสารอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จึงมีความเสี่ยงต่อการคุกคามจากการได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า (ที่มา: เว็บไซต์ www.who.int)
เกี่ยวกับบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่เน้นการวิจัย พัฒนา และการผลิต ตลอดจนมุ่งหวังที่จะกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และแข่งขันได้ บริษัทฯ ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรในการผลิตและจำหน่ายวัคซีนจำนวนหลายพันล้านโด๊สทั่วโลก นอกจากนี้ ณ ศูนย์วิจัย-พัฒนาและโรงงานวัคซีนของบริษัทฯ ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงการศึกษาวิจัยทางด้านคลินิก บริษัทฯ ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Hib) และปัจจุบันได้ผลิตและออกจำหน่ายในรูปของวัคซีน pentavalent ในภูมิภาคเอเชียแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้ขอรับสิทธิบัตรสำหรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Recombinant Acellular Pertussis) รุ่นที่ 3 โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการวิจัยทางคลินิกในช่วงที่ 1 และ 2
เกี่ยวกับบริษัท Liaoning Cheng Da Biotechnology จำกัด
บริษัท Liaoning Cheng Da Biotechnology จำกัด ดำเนินธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การกระจายสินค้าและการจัดจำหน่ายวัคซีนต่างๆ บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2545 โดยการลงทุนร่วมกันของบริษัท Liaoning Cheng Da จำกัด และสถาบัน Liaoning Bio-Medical Equipment บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์แบบ Perfusion cell culture ในไบโอรีแอคเตอร์ (Bioreactor) ด้วย high density microcarriers และกระบวนการทำให้บริสุทธิ์สูงโดยเทคโนโลยีคอลัมน์โครมาโตกราฟี ทำให้ได้วัคซีน Speeda® และ Jevac® สำหรับวัคซีน Speeda® เป็นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งในประเทศจีนและประเทศไทยโดยสามารถจำหน่ายได้มากกว่า 180 ล้านโด๊ส นอกจากนี้ผลจากการศึกษาวิจัยเด็กในประเทศไทยของวัคซีน Jevac® พบว่า มีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้ กล่าวคือสามารถตรวจพบภูมิคุ้มกันในระดับที่เพียงพอในการป้องกันโรค 100% ภายหลังการใช้สาร 2 โด๊ส
เกี่ยวกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทย
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นเป็นศูนย์ความร่วมมือสำหรับการวิจัยและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งการให้บริการแก่ประชาชนในเรื่องพิษสุนัขบ้า และพิษอันตรายต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ทั้งนี้ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้รับรองมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) และได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 สำหรับการใช้ในกระบวนการผลิตสารอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ERIG) วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) และเซรุ่มแก้พิษงู โดยการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์อันทันสมัยเพื่อการวิจัย พัฒนา ผลิต ผสม แบ่งบรรจุ วิจัย และการทดสอบ วินิจฉัยโรค
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
โทร. 0-2361-8110
อีเมล์ info@bionet-asia.com
เว็บไซต์ www.bionet-asia.com
บริษัท Liaoning Cheng Da Biotechnology จำกัด
โทร. 0086-24-83787033
อีเมล์ cdbio@cdbio.cn
เว็บไซต์ www.cdbio.cn
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
โทร. 0-2252-0161
อีเมล์ info@saovabha.com
เว็บไซต์ www.saovabha.com