ขึ้นชื่อว่าการออกกำลัง และการเล่นกีฬา ก็ย่อมเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรง มีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงและรวดเร็ว ดังนั้น นอกจากความรู้ความเข้าใจในทักษะของกีฬาแล้ว ผู้เล่นกีฬาก็ควรที่จะมีความรู้ในเรื่องความเสี่ยงต่างๆของการเล่นกีฬา ที่จะนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บ และวิธีป้องกันการบาดเจ็บเหล่านั้นด้วย
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เป็นการบาดเจ็บที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย ซึ่ง เกิดจากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับประเภทของกีฬา ส่วนความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับประเภทของกีฬาเหล่านั้นด้วย แต่หลักการใหญ่ๆ จะ เกิดมาจาก 2 สาเหตุ หลัก คือ
- การใช้มากเกิน (overuse injury) เนื่องจาก ในการเล่นกีฬาแต่ละประเภทก็จะมีการใช้โครงสร้างกล้ามเนื้อที่ใช้แตกต่างกัน การบาดเจ็บจึงขึ้นอยู่กับประเภทของกีฬาแต่ละชนิดด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นการบาดเจ็บที่ ขา เพราะ กีฬาส่วนใหญ่ จำเป็นต้องเดิน ยืน วิ่ง เป็นหลัก
- การบาดเจ็บ ที่เกิดจากแรงปะทะ ที่ทำให้เกิดการ แตก ฉีก หัก ซึ่งกีฬาแต่ละประเภทก็จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับแรงปะทะ ซึ่งกีฬา ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ กีฬาที่มีการต่อสู้ (Martial Art) อาทิ มวย คาราเต้ ยูโด ซึ่งกีฬาเหล่านี้เป็นกีฬาที่มีการบาดเจ็บมากที่สุด แต่ในปัจจุบันเกมส์กีฬาเหล่านี้ก็มีการพัฒนาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บให้กับผู้เล่นมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กีฬา มวย ที่มีอุปกรณ์ที่ป้องกันการบาดเจ็บมากขึ้น มีการปรับขนาดนวม และกติกาการเล่น ให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กีฬาแต่ละประเภทก็ใช้กล้ามเนื้อและอวัยวะแตกต่างกัน มีวิธีการเล่นที่แตกต่างกัน การบาดเจ็บจะมากจะน้อย ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆอีกมากมายอาทิ ตำแหน่งของผู้เล่น การฝึกซ้อม และทักษะของผู้เล่น และสำหรับกีฬาที่ไม่ได้ใช้การเคลื่อนไหวมากนัก ก็มีโอกาสในการบาดเจ็บเช่นเดียวกัน แต่อาจจะน้อยกว่ากีฬาที่ใช้แรงมากๆ อาทิ กีฬากอล์ฟ ก็มีโอกาส ปวดข้อมือ ปวดแขน หรือ ข้อเท้าพลิก แต่มีโอกาสเสี่ยงน้อยมาก เนื่องจากกีฬาเหล่านี้ เป็นกีฬาที่ผู้เล่นสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย ใช้ทักษะการตีที่ต่างกัน แม้ผู้เล่นจะมีอายุเท่ากันแต่อาจจะมีโอกาสบาดเจ็บที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับฝีมือและการฝึกฝน ของแต่ละบุคคล เช่น กีฬาฟุตบอล เป็นกีฬาที่มีทั้งการประทะ และการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว ดังนั้น การบาดเจ็บส่วนใหญ่จะแตกต่างกันตามตำแหน่งของผู้เล่น เช่น ผู้รักษาประตู เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากแรงปะทะ บาดเจ็บที่มือ ส่วนผู้เล่นที่วิ่งในสนามจะมีโอกาสที่จะบาดเจ็บที่ข้อเท้า ขา หรือศรีษะ เป็นต้น
และจะมีวิธีป้องกันอาการบาดเจ็บได้อย่างไร? เป็นคำถามที่คุณหมอได้อธิบายไว้ว่า นักกีฬาจำเป็นต้องฝึกฝนทั้งทักษะและ ความแข็งแรงของร่างกายควบคู่กัน เพราะถ้าหากนักกีฬาฝึกฝนเฉพาะร่างกาย แต่ขาดทักษะ ในการเล่น ร่างกายจะเกิดความไม่สมดุลย์ เพราะกีฬาแต่ละชนิด ใช้กล้ามเนื้อในส่วนที่ต่างกัน และจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะที่แตกต่างกันในการพัฒนาร่างกายในส่วนต่างๆด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่เล่นกีฬาควรจะมีความพร้อมทั้งในเรื่องของสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และทักษะของกีฬาชนิดนั้นๆ เช่น นักกีฬาทุกคนควรมีสภาพจิตใจที่ดีบวกกับสภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อให้การฝึกซ้อมได้ประสิทธิภาพ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายไม่สมดุลย์ นั้นก็หมายถึงการบาดเจ็บของตัวนักกีฬานั่นเอง
และนอกจากนั้นแล้ว คุณหมอ ยังมีเคล็ดลับดีๆป้องกันอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ซึ่งปฏิบัติได้ง่ายๆดังนี้
– ผู้เล่นต้องมีความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ คือไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ ประกอบกับการมีสมาธิและความตั้งใจที่จะเล่นกีฬา มีสภาพร่างกายที่เหมาะสมกับชนิดกีฬานั้นๆ
– รู้กฏ กติกา มารยาท ของกีฬาแต่ละชนิดและควรมีน้ำใจเป็นนักกีฬา
– ดื่มน้ำให้เพียงพอ และมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับกีฬานั้นๆ
– การอบอุ่นร่างกาย หรือ วอร์มอัพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการออกกำลังกาย เพราะการอบอุ่นร่างกาย คือ การยึดกล้ามเนื้อให้เต็มที่ในทุกๆ ส่วนที่จะต้องใช้ในการเล่นกีฬา จะทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวอยู่นั้นอ่อนตัวลงบ้าง เพื่อเผชิญกับการถูกยืดหรือเหยียดอย่างกะทันหันในขณะเล่นกีฬาทำให้เกิดความคล่องตัวยืดหยุ่นและอดทนได้ดี เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ หลังการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเสร็จแล้ว ก็ไม่ควรมองข้ามการคูลดาวน์ (Cool down) หรือ การคลายอุ่น เนื่องจากหลังการเล่นกีฬา หัวใจยังเต้นเร็วอยู่ จึงไม่ควรหยุดกิจกรรมโดยทันที อาจเป็นอันตรายได้ เช่น เกิดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ หรือขั้นสูงสุดคือเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรเคลื่อนไหวต่อไปเรื่อยๆ สักครู่เพื่อให้หัวใจเต้นช้าลงใกล้เคียงปกติเสียก่อน
วิวัฒนาการในการป้องกันและรักษา
ถึงแม้ว่าการออกกำลังจะทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาทำให้ ความเสี่ยงจากการบาดเจ็บมีน้อยลง อาทิ โปรแกรมการฝึกซ้อม ที่ทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีกล้องความเร็วสูง ที่สามารถจับภาพการเคลื่อนไหว ซึ่งนำมาใช้เพื่อดูความเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้การฝึกซ้อมมีประสิทธิภาพ ในบางประเทศต้องมีการเจาะเลือดนักกีฬาทุกครั้งหลังการเล่น เพื่อตรวจหากรดแลคติกแอซิด ซึ่งเป็นของเสียในเลือด อันเกิดจากการ cool down ที่ไม่สมบูรณ์เพียงพอ ซึ่งหากมีการตรวจพบนักกีฬาก็จำเป็นที่จะต้องกลับไป cool down ใหม่ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ซึ่งการรักษาอาการบาดเจ็บก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นในอดีต เอ็นไขว่หน้าข้อเข่าขาด หมายถึงการจบอนาคตของนักกีฬา แต่ในปัจจุบันมีการรักษา ที่ทำให้นักกีฬาสามารถกลับมาเล่นได้ ด้วยการผ่าตัด โดยมีหลายวิธีที่จะรักษาให้หายทั้งการผ่าตัดแผลเล็ก ผ่าแบบส่องกล้อง ซึ่งการรักษาจะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเองด้วย
โดย นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ แพทย์ศัลยกรรมกระดูก
และผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง: เวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลธนบุรี