หลายคนกล่าวว่า วัยทำงานเป็นวัยที่ไม่สนุกอย่างที่คิด เพราะแทนที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฝันไว้ กลับต้องมาใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมงต่อวันหรือมากกว่า ในการนั่งเฝ้าหน้าจอ ซึ่งไม่ใช่แค่ความกดดันจากการทำงานเท่านั้น ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเครียด แต่ในวัยนี้ เรายังต้องเผชิญกับภาระหน้าที่อื่น ๆ ที่ตามมาอีกมากมาย จนอาจทำให้หลายคนเกิดความเครียดสะสม และกลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่ายโดยไม่รู้ตัว หากใครกำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ เรามีวิธีดี ๆ มาบอกต่อ ชวนรู้จัก 5 วิตามินคลายเครียดสำหรับวัยทำงาน พร้อมแนะนำเคล็ดลับที่จะช่วยฟื้นฟูจิตใจ ให้คุณห่างไกลจากความเครียดได้อย่างเห็นผล
สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดในวัยทำงาน
- สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน
สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้หลาย ๆ คนต้องเผชิญกับความเครียดสะสม เพราะสถานที่ทำงานเป็นที่ที่เราต้องใช้เวลาอยู่มากถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการทำงาน ก็อาจทำให้รู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายตัว และทำให้รู้สึกไม่อยากไปทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมลภาวะ ความแออัด ความสะอาด อุณหภูมิ และกลิ่น
- ปริมาณงานที่ได้รับ
การทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่มีเวลาพัก หรือการที่ต้องนั่งทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจได้มากที่สุด โดยเฉพาะหากสายงานใดที่ต้องใช้ทักษะพิเศษ ยิ่งก่อให้เกิดความเครียดและความกดดัน จนกลายเป็นการแสดงออกทางร่างกาย เช่น หงุดหงิดง่าย เบื่ออาหาร และเกิดอาการเหนื่อยล้าตลอดเวลา เพราะไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
- วิธีการทำงาน
วิธีการทำงานที่ไม่ลงตัว เช่น ขาดการสื่อสารในองค์กร, การบริหารจัดการที่ไม่ดี ตลอดจนอุปกรณ์การทำงานที่ไม่พร้อม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของความเครียด เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องเจอกับปัญหาในการทำงานที่ไม่รู้จบ จนไม่สามารถทำงานได้สำเร็จลุล่วงอย่างที่ตั้งใจ
- ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน
ความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่ไม่ดี ทั้งจากเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้วัยทำงานหลาย ๆ คนเกิดความเครียด และบางคนอาจถึงขั้นไม่อยากไปทำงานเลยทีเดียว
- ความก้าวหน้าในตำแหน่ง
เป็นเรื่องปกติที่เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง เราจะเริ่มเกิดความคาดหวังในตำแหน่ง หากองค์กรไม่สามารถตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ ก็ย่อมทำให้เกิดความเครียดและความผิดหวังได้
แนะนำ 5 วิตามินคลายเครียดสำหรับวัยทำงาน
เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจเคยรู้จักกับวิตามินบีในฐานะวิตามินที่ช่วยบำรุงร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากจะมีคุณสมบัติในการบำรุงร่างกายแล้ว วิตามินบียังมีบทบาทสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง มีส่วนช่วยในการบรรเทาความเครียด ความหงุดหงิด และความวิตกกังวลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นวิตามินแก้เครียดที่ตอบโจทย์วัยทำงานเป็นอย่างยิ่ง
- วิตามินซี
ทุกคนรู้กันว่า วิตามินซีนั้นเป็นวิตามินที่โดดเด่นในการบำรุงผิวพรรณและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า วิตามินซีเองก็มีคุณสมบัติในการบรรเทาความเครียดด้วยเช่นกัน เพราะวิตามินซีจะช่วยลดระดับฮอร์โมน Cortisol ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในยามที่เราเกิดความเครียด เมื่อฮอร์โมนนี้ลดลง ก็จะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้มากขึ้น
- วิตามินดี
วิตามินดี เป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล และช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น ซึ่งผลการวิจัยพบว่า วิตามินดีนั้นเป็นวิตามินที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด หากใครที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ ก็มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเครียดได้ง่าย และยังมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย ดังนั้น หากใครที่รู้สึกได้ว่า ตัวเองกำลังจมอยู่กับความเครียดมากเกินไป จนเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเติมวิตามินดีให้แก่ร่างกายโดยด่วน
- แมกนีเซียม
แมกนีเซียม เป็นสารตั้งต้นของเมลาโทนิน มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาความเครียด และทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าเมื่อเราสามารถนอนหลับได้สนิท ทั้งร่างกายและจิตใจก็จะได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่ พร้อมตื่นมาเผชิญวันใหม่ได้อย่างสดชื่น
- โอเมกา 3
โอเมกา 3 ที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่า เป็นสารอาหารที่พบได้มากในปลาทะเลและธัญพืช ซึ่งนอกจากจะอุดมไปด้วยไขมันดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว โอเมกา 3 ยังมีคุณสมบัติช่วยควบคุมความเครียด และบรรเทาความหงุดหงิดได้เป็นอย่างดี
หงุดหงิดง่าย แก้ยังไง?: 4 วิธีดูแลร่างกายและจิตใจให้ห่างไกลจากความเครียด
นอกจากการรับประทานวิตามินแก้เครียดแล้ว เราขอแนะนำอีก 4 วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ดังต่อไปนี้
- ออกกำลังกาย
งานวิจัยพบว่า การออกกำลังกายเพียง 5 นาที ก็สามารถช่วยลดระดับความเครียด และปรับอารมณ์ให้แจ่มใสขึ้นได้ เพราะในระหว่างที่เราออกกำลังกาย สมองจะจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหว จึงสามารถปล่อยวางเรื่องที่รบกวนจิตใจได้ชั่วขณะ ซึ่งนอกจากจะดีต่อจิตใจแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังเป็นการฟื้นฟูร่างกาย ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดี และช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
- นั่งสมาธิ หรือทำกิจกรรมที่ใช้สมาธิ
ในช่วงเวลาที่เราเกิดความเครียด ในหัวของเราคิดถึงแต่เรื่องที่เป็นสาเหตุของความเครียดอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ไม่มีสมาธิกับสิ่งอื่น ๆ ส่งผลให้รู้สึกหงุดหงิด อ่อนล้า และไม่อยากที่จะทำอะไร หากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน และทำให้เกิดปัญหามากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองจมอยู่กับความเครียดมากเกินไป ให้หันไปนั่งสมาธิพร้อมกับเปิดเพลงคลอเบา ๆ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องใช้สมาธิ อย่างการวาดภาพ หรือทำงานฝีมือต่าง ๆ
- แบ่งเวลาให้ตัวเองมากขึ้น
เพราะในแต่ละวันที่เราทำงาน เราต้องใช้เวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็นในการจัดการภาระงานต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น ดังนั้น ในช่วงเวลาหลังเลิกงาน หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ให้เราพยายามปล่อยวางเรื่องงาน และหันมาให้เวลากับตัวเองหรือครอบครัวมากขึ้น แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนนอน หรือเป็นแค่ช่วงเย็นในวันหยุด ก็จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ไม่น้อย
- ผ่อนคลายด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ
อีกหนึ่งวิธีคลายเครียดจากการทำงานที่ได้ผลดี ก็คือการพาตัวเองหนีออกมาจากความเครียด และหันไปทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ทำอาหาร ดูหนัง หรือออกไปท่องเที่ยว นอกจากจะได้ปล่อยวางจากความเครียดสะสมแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูจิตใจ และเป็นการชาร์จแบตให้ร่างกาย ช่วยให้พร้อมกลับไปจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่าความเครียดในวัยทำงาน จะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และปัญหาบางเรื่อง อาจไม่สามารถแก้ไขได้ทันที แต่การดูแลร่างกายและจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อน ทำกิจกรรมที่ชอบ และมองหาวิตามินแก้เครียดมาเป็นตัวช่วย ก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง:
- คลายเครียดด้วยวิตามิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566. จาก https://www.mfuhospitalbkk.com/17323302/คลายเครียดด้วยวิตามิน
- วิตามินดี แสงแดด และอาการซึมเศร้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566. จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/441/วิตามินดีแสงแดดและอาการซึมเศร้า/
- 5 วิธีจัดการความเครียดง่ายๆ ที่คุณเองก็ทำได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566. จาก https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-สุขภาพจิต/stress